วันที่ 2 มิถุนายน 2566 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวในเวทีเสวนา “ตรวจการบ้าน 1 ปีแรก : กรุงเทพมหานครในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” โดยช่วงหนึ่งได้ตอบคำถามประชาชนในประเด็นข้อกังวลสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วม ว่า ในช่วง 3 ปีนี้อาจเจอปรากฎการณ์เอลนิโญ (El Nino) ดังนั้นมวลน้ำจากภาคเหนือที่จะไหลลงมา กทม. อาจจะไม่หนักเท่ากับในปี 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากปีดังกล่าวมีผลกระทบจากปรากฎการณ์ลานิญา (La Nina)
โดยกลไกบริหารจัดการน้ำ หากเป็นน้ำเหนือปกติก็จะไหลลงมาตามลำน้ำ หากไม่อยู่ผิดที่ผิดทางอย่างในปี 2554 ที่มาบนถนน ขณะที่ในรอบปีที่ผ่านมาคนจะหงุดหงิดกับน้ำท่วม ซึ่ง กทม. ยอมรับ แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มาก ระดับ 3,100-3,200 ลูกบาศก์เมตร จะล้นเขื่อนของ กทม. ที่มีอยู่โดยรอบ โดยบางจุดก็เป็นพื้นที่ฟันหลอของเอกชนซึ่ง กทม. ไม่สามารถไปปิดกั้นได้ จึงเป็นการบริหารจัดการร่วมกันกับกรมชลประทานในการที่จะวางกระแสน้ำ เพราะปกติน้ำไม่ใช่จู่ๆ จะมา แต่รู้ล่วงหน้า ดังนั้นการกั้นความสูงขอบเขื่อนขึ้นไปอีกเพื่อทำให้ปะทะน้ำได้น้อยลงเวลาน้ำซัดมา
“ทางฝั่งตะวันออก คลองมันจะเป็นรูปตัวแอล (L) ยาว 42 กิโลเมตร น้ำไม่ได้วิ่งวันเดียว แล้วถ้าเปิดประตูน้ำฉับพลันอย่างที่เราอยากจะปล่อยน้ำจากต้นทาง มันจะกระแทกฝั่งของเขตอีกเขตหนึ่งที่อยู่ต่อกันทันที ดังนั้นในการบริหารจัดการที่เป็นน้ำเหนือมันจะเป็นเรื่องของการที่ประสานงานในเรื่องการปล่อยน้ำ ค่อยๆ ขยับประตูน้ำ แล้วทำให้มีแนวเขื่อนที่สูงขึ้น เพื่อประทังไม่ให้น้ำล้นออกไปจนระบบระบายข้างในระบายไม่ทัน” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ปัญหาใหญ่คือ กทม. ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถรับสถานการณ์น้ำ 3 ประเภทมาปะทะกัน คือน้ำฝนที่ตกหนัก น้ำเหนือที่ไหลบ่า และน้ำทะเลที่หนุนสูง เพราะภูมิประเทศเป็นแอ่ง ดังนั้นวิธีการคือร่วมกันบริหารจัดการน้ำเหนือให้ผ่อนลง เสริมคันกั้นน้ำขึ้นไม่ให้น้ำกลับเข้ามาโดยง่าย ขณะที่ท่อระบายน้ำก็ต้องถูกทะลวง ซึ่ง กทม. มีระบบท่อทั้งหมด 6,000 กิโลเมตร ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ กทม. สามารถลอกท่อได้ครบถ้วนทั้งหมดได้ภายในเวลา 1 ปี
โดยเดือน มิ.ย.-ธ.ค. 2565 ลอกไปแล้ว 3,000 กิโลเมตร ต่อจากของเดิมก่อนหน้านั้นที่ลอกไปแล้ว 600 กิโลเมตร รวม 3,600 กิโลเมตร ขณะที่นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 เป็นต้นมา ลอกไปแล้ว 2,500 กิโลเมตร ดังนั้นทำให้ระบายน้ำเดิมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับปริมาณฝนได้ 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง สามารถระบายน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งหากไม่ลอกท่อก็จะระบายน้ำได้น้อยกว่านี้
“ดังนั้นตราบใดที่ฝนตกอยู่สักประมาณ 90 มิลลิเมตร/ชั่วโมง จะเจอน้ำในระดับที่เปียกเท้าอยู่สักชั่วโมงหนึ่ง หรือ 90 นาที แต่ถ้าเป็นฝนเหมือนปีที่แล้ว อย่างฝนวันที่ 3 ตุลาคม ตกวันเดียว 162 มิลลิเมตร ติดกัน 3 ชั่วโมง ท่อระบายได้ 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ตก 160 ใน 1 ชั่วโมง ติดกัน 3 ชั่วโมง จะใช้เวลากี่ชั่วโมง แล้วน้ำมันจะสะสม อันนั้นเรื่องใหญ่ อันนั้นเส้นเลือดฝอยที่เราแก้มาทั้งปีอาจไม่ใช่คำตอบเพียงคำตอบเดียว ตอนนี้ท่านผู้ว่าฯ กำลังทะลวงอุโมงค์หนักมาก เพราะความจุใหญ่อยู่ตรงนั้น แล้วเราก็เริ่มคิดเรื่องของการทำทางรับน้ำเหมือนกัน” รศ.ดร.ทวิดา ระบุ
รศ.ดร.ทวิดา ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีปัญหาขยะชิ้นใหญ่ เช่น ฟูก ที่นอน หมอน มุ้ง ตู้เสื้อผ้า เครื่องซักผ้า ประชาชนอาจทิ้งสิ่งเหล่านี้ลงคลองเพราะเห็นว่าค่าใช้จ่ายน้อย แต่ปัจจุบัน กทม. มีโครงการทิ้งขยะชิ้นใหญ่ทุกๆ วันอาทิตย์ ดังนั้นสามารถประสานกับเจ้าหน้าที่ กทม. ให้ไปเก็บขยะประเภทดังกล่าวได้ ซึ่ง กทม. ดำเนินโครงการนี้มาแล้ว 4-5 เดือน ความจุรองรับของการระบายน้ำในคู-คลองต่างๆ ดีขึ้นมาก