ไข้เลือดออกพุ่ง
แค่สัปดาห์เดียว
ป่วย3.6พันดับ6
สธ.สั่งเฝ้าระวัง
สถานการณ์ “ไข้เลือดออก” ยังน่าวิตกสัปดาห์เดียว ยอดป่วยพุ่ง 3,665ราย เสียชีวิต 6 ศพ ผู้ป่วยสูงสุด5 อันดับ ได้แก่ ตราด น่าน แม่ฮ่องสอน จันทบุรี และ ระยอง ‘ปลัด สธ.’กำชับให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังใกล้ชิด เน้นเป้าทำลายลูกน้ำยุงลาย
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม จำนวน 31,042 ราย เสียชีวิตแล้ว จำนวน 29 รายโดยล่าสุด สัปดาห์ที่ 26 พบ ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 3,665 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6 ราย สำหรับจังหวัดที่พบอัตราผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ตราด น่าน แม่ฮ่องสอน จันทบุรี และระยอง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้รายงานต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขว่าขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยในปี 2566 อัตราป่วยคิดเป็น 41.37 ต่อแสนประชากร อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.08 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่อัตราป่วย 17.46 ต่อแสนประชากร ส่วนอัตราป่วยตายร้อยละ 0.09 สะท้อนว่าในปี 2566 จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีที่ผ่านมา โดยผู้เสียชีวิตสะสมพบทั้งกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้กล่าวถึงกรณีที่มีความเชื่อว่าเมื่อเคยป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วหากป่วยอีกอาการจะไม่รุนแรงนั้นว่า ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกี ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละปีสายพันธุ์ที่ระบาดอาจแตกต่างกัน
“การติดเชื้อครั้งแรก อาการอาจจะไม่รุนแรงมากนัก แต่การติดเชื้อครั้งที่ 2 อาจมีอาการรุนแรงขึ้นในทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะหากเป็นการติดเชื้อคนละสายพันธุ์กับครั้งแรก ส่วนวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ขณะนี้ยังไม่ได้นำมาใช้ในการป้องกันโรคเป็นหลัก แม้ในการทดลองจะได้ผลดีในบางสายพันธุ์ ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนในบางคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว จะเหมือนเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 หรือคนที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้อไข้เลือดออก อาจจะทำให้อาการรุนแรง” นพ.โอภาส ย้ำ
ปลัดกระทรวง สธ.ยังกล่าวอีกว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ร่วมกับการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกเขตสุขภาพกำกับติดตามการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออก ผู้ป่วยเสียชีวิต และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ได้แจ้งผ่านกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน วัด ศาสนสถาน ซึ่งพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สนับสนุนทรัพยากรสำหรับประชาชน
“ขอให้ใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายพักอาศัย, เก็บขยะและเศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำให้มิดชิด ปิดฝาภาชนะ หรือเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ หรือใส่ทรายฆ่าลูกน้ำยุงลาย ซึ่งป้องกันได้ทั้งไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้ซิกา รวมทั้งป้องกันการถูกยุงกัด ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง หรือทายาป้องกันยุง”นพ.โอกาส ระบุทิ้งท้าย