ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 19 เรื่อง “จุฬาฯ มุ่งหน้าด้วย GENERATIVE AI” ความว่า จุฬาฯ เป็นผู้นำในการบุกเบิกในการนำนวัตกรรม AI มาใช้ในการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบผ่านแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆเช่น ChatGPT มีการจัดกิจกรรม Chula Lunch Talk เพื่อเผยแพร่ความรู้ในแง่มุมต่างๆ โดยคณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญการนำ AI และ CHAT GPT มาใช้ในการเรียนการสอนและกำลังจะให้ทุนสนับสนุนแก่คณาจารย์จำนวน 100 คน เพื่อนำ AI และ CHAT GPT ไปใช้ในการเรียนการสอน ตั้งแต่สิงหาคม-ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ โดยภาพรวมและนโยบายของการใช้ GENERATIVEAI จะมุ่งเน้นไปที่ 2 หลักการ คือEmbrace และ Understanding โดยจะสนับสนุนการใช้งานด้วยความเข้าใจ ไม่มีการบังคับ
“จุฬาฯ มุ่งหน้าสนับสนุนการใช้ Generative AI โดยให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากรใช้อย่างเต็มที่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ในส่วนของผู้เรียนจะต้อง “ปรับใช้” AI เพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างเต็มที่ “เข้าใจ” ว่า AI มีความสามารถและข้อจำกัดอะไร “อ้างอิง” การใช้งาน AI ให้ชัดเจน ถูกต้อง “ระมัดระวัง” ไม่นำข้อมูลลับเข้าระบบปัญญาประดิษฐ์ สำหรับผู้สอนจะต้อง “ปรับใช้” AI ในการเรียนการสอน “เข้าใจ” ถึงความสามารถและข้อจำกัดของ AI “ออกแบบ” กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสม และ “ระบุ” ขอบเขตและแนวทางการใช้ AIในประมวลรายวิชา” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ Chief Learning InnovationOfficer กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับประชาคมจุฬาฯว่าได้จัดทำหลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ไว้แล้ว ได้แก่ สนับสนุนให้นิสิตและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเหมาะสม, ให้มีการปรับกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลตลอดจนการทำงานให้เหมาะสม สร้างสรรค์และถูกหลักจริยธรรม และให้ความสำคัญและเข้มงวดกับเรื่องจริยธรรมทางวิชาการ
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร ที่นอกจากจะกล่าวถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังของการใช้ ChatGPT, GENERATIVE AI แล้ว ยังได้เน้นย้ำถึงเรื่องของหลักการและแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ได้วางแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอาไว้แล้ว ทั้งการเรียนการสอนและการประเมินผลการใช้งานเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ และด้านการปกปิดความลับและข้อมูลส่วนบุคคล
Generative AI (Gen-AI) คือ AI ที่ถูกออกแบบมาเฉพาะให้มีความสามารถใการ “สร้างใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model เช่น Generative adversarial network : GANs), Variational autoencoders : VAEs, Autoregressive models โดยนำมาใช้งานหลากหลาย เช่น การสร้างภาพการประมวลผล การสร้างเสียงดนตรี กล่าวง่ายๆ การสร้างเนื้อหาขึ้นใหม่จากข้อมูลที่มีอยู่เดิมนั่นเอง