วันนี้ (12 ก.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีการตัดไม้พะยูงหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า วันนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณภายในโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หลังได้รับแจ้งจากภาคประชาชนในพื้นที่อีกว่า ที่โรงเรียนแห่งนี้ก็มีการตัดไม้พะยูงเหมือนกันด้วยวิธีประมูลขายนำเงินเข้าแผ่นดินจำนวน 4 ต้นขายให้กับพ่อค้า โดยขายไปเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งพฤติกรรมการตัดไม้พะยูงประมูลขายคล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนหลายแห่งที่ผ่านมา โดย น.ส.วรรณกานต์ สิมมา ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ได้พาชมโรงเรียนที่พบว่ามีต้นไม้พะยูงหลงเหลืออยู่กว่า 10 ต้นและมีการนำผ้าเหลืองมาโอบล้อมเป็นลักษณะการบวชต้นไม้พะยูง โดยยอมรับว่ามีการประมูลไม้พะยูงจริงตามคำแนะนำของผู้บริหารและตัวแทนธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อย.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเข้ามาเป็นผู้บริหารโรงเรียนในปี 2563 ซึ่งจะมีคนมาติดต่อขอซื้อไม้พะยูงหลายราย แต่ตนได้ปฏิเสธไป เพราะเราเป็นโรงเรียนอนุรักษ์ต้นไม้ กระทั่งในปี 2565 ไม้พะยูงยืนต้นตายจำนวน 4 ต้น ไม้ยางนาจำนวน 1 ต้น จึงได้มีการประชุมขอมติกรรมการสถานศึกษา และ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กระทั่งทราบภายหลังว่า ทาง สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เข้ามาดำเนินการไป ส่วนที่จะมีการประมูลขายประการใดตนไม่ทราบ แต่ก็ได้อธิบายให้กรรมการสถานศึกษาและชาวบ้านทราบว่า ทางเขตและธนารักษ์ขายไม้เพื่อนำเงินเข้าหลวง
น.ส.วรรณกานต์ กล่าวอีกว่า ต่อมาวันที่ 2 พ.ค.66 มีคนร้ายเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูง 2 ต้นจึงได้เข้าแจ้งความที่ สภ.โนนสูง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ธนารักษ์ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้มาทำการตรวจยึด ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลาง 3 คนประกอบ ด้วยเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส นายช่างสำรวจอาวุโส ส่วนจะเป็นใครนั้นปรากฏในหนังสือคำสั่งแต่งตั้งของผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 รวมทั้งตนซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ทั้งนี้ ตนทราบเรื่องแค่นี้ ส่วนจะมีการประเมินราคาขายเท่าใด ใครเป็นคนรับซื้อ ตนไม่ทราบ เอกสารอยู่ที่ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เท่านั้น อย่างอื่นไม่ทราบถึงแม้จะมีหลักฐานปรากฏในหนังสือแต่งตั้ง ตนไม่ขอพูด เพราะเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นอีกเคสที่ชาวบ้านที่รักต้นไม้หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเอกสารเป็นข้อมูลลับมาให้พบเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่าง สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ในการขออนุญาต และให้อนุญาตตัดไม้เหมือนในโรงเรียนหลายแห่ง ส่วนหนังสือขอจำหน่ายไม้พะยูงในโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด มีจำนวน 3 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 เป็นหนังสือของทางราชการ ลงวันที่ 27 มิ.ย.66 โดยเป็นหนังสือจากธนารักษ์พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โต้ตอบกับ สปพ.กาฬสินธุ์ เขต 2 เรื่อง อนุญาตให้จำหน่ายต้นไม้ ที่ได้จากที่ราชพัสดุ 17 ท่อนของโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ โดยวิธีขายทอดตลาด เพื่อนำเงินเป็นรายได้แผ่นดิน ในนามธนารักษ์, ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 4 ก.ค.66 เป็นหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลางจำนวน 3 คน จากการดูรายชื่อพบว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการฯ เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่โดนเด้ง กรณีไม้พะยูงเทศบาลตำบลอิตื้อหาย ส่วนอีกคนเป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์กาฬสินธุ์ และอีกคนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ส่วนหนังสือฉบับที่ 3 เป็นหนังสือรายงานรื้อถอนและขนย้าย โดยมีการแจ้งส่งสำเนาสัญญาซื้อขายไม้พะยูงจำนวน 4 ต้นด้วย
รายงานแจ้งคำให้การของแหล่งข่าวระบุว่าหลังจากไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ กระทั่งพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง ได้รวบรวมพยานหลักฐาน และส่งสำนวนฟ้องต่อ ป.ป.ช.แล้ว ชาวบ้านยังแจ้งอีกว่าที่โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ เยื้องสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ ยังเคยเกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ากี่ครั้ง หรือกี่ต้น เพราะถูกปกปิดเป็นความลับ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ เห็นเป็นเรื่องของทางโรงเรียน กับ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์เท่านั้น แม้แต่เห็นหนังสือฉบับนี้ ว่ามีการขออนุญาตและให้อนุญาตขายทอดตลาดไม้พะยูงจำนวน 17 ท่อน ตามที่ปรากฏในเอกสาร ชาวบ้านหลายคนไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน ว่าไม้มาจากไหน หรือขายไปในราคาเท่าใด
จากกรณีพบหนังสือขอจำหน่ายต้นไม้ที่ได้จากที่ราชพัสดุ จำนวน 17 ท่อน ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2566 และหนังสือเรื่อง รายงานรื้อถอนและขนย้าย ซึ่งมีการแจ้งส่งสำเนาสัญญาซื้อขายไม้พะยูงจำนวน 4 ต้น ไม้ยางนา 1 ต้น ของโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ว่า ไม่ทราบว่าไม้พะยูงจำนวนดังกล่าวขายให้ใคร จำนวนเงินเท่าใด ใครเป็นผู้รับเงินไป ขณะที่มีชาวบ้านบางคนให้การว่า เคยได้ยินพ่อค้าที่มาซื้อไม้เล่าให้ฟังว่า เคยมาซื้อไม้พะยูงที่โรงเรียนแห่งนี้ไปแค่ 6 ท่อน ในราคา 2 หมื่นบาทเท่านั้นเอง ซึ่งหากซื้อไปจริง ไม้พะยูงอีก 11 ท่อนยังเหลืออยู่หรือเปล่าหรือถูกจำหน่ายไปแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้ชุดเฉพาะกิจติดตามตรวจสอบปัญหาตัดไม้พะยูง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งนำโดยนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบในเชิงลึกโดยด่วนด้วย โดยเฉพาะประเด็นคนของธนารักษ์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏชื่อเป็นกรรมการประเมินราคากลาง
ด้านฝ่ายความมั่นคง จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า สำหรับกรณีการตัดไม้พะยูง ไม้ประดู่และไม้หวงห้ามในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ รอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏไทม์ไลน์ทั้งในส่วนของเอกสารการขออนุญาตตัดในพื้นที่ราชพัสดุ และถูกแก๊งมอดไม้ลักลอบตัด รวม 14 ครั้ง ประกอบด้วย (1) วันที่ 25 ก.ค.66 คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูง 1 ต้น ที่สถานีเพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์, (2) ต้นเดือน ส.ค. 66 มีเหตุลอบตัดไม้พะยูงที่ ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย คนร้ายได้ไม้ของกลางไป 1 ท่อน, (3) วันที่ 14 ส.ค.66 คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณหนองทึง ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด 2 ต้น และ (4) รับแจ้งตัดไม้ประดู่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติดงมูล อ.ท่าคันโท จับผู้ต้องหา 3 คน พร้อมของกลาง, (5) วันที่ 17 ส.ค.66 ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จำนวน 22 ต้น กับอีก 2 ตอ, (6) 20 ส.ค. 66 มีเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนลักลอบเข้าไปตัดไม้ประดู่-ยูคา ในป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง, (7) วันที่ 29 ส.ค.66 รับแจ้งตัดไม้พะยูงที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก จำนวน 9 ต้น โดยตัดไปตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.66, (8) วันที่ 27 ส.ค.66 คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียนห้วยเม็กวิทยา 1 ต้น, (9) วันที่ 28 ส.ค.66 นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงที่สถานีวนวัฒนวิจัยกาฬสินธุ์ ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด หลังเกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดในเดือน ก.ค.66,
นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านผู้รักษ์ทรัพยากรป่าไม้ แจ้งเบาะแสเข้ามาที่ฝ่ายความมั่นคงเพิ่มเติมว่า (10) วันที่ 31 ส.ค.66 ได้รับแจ้งขออนุญาตตัดไม้พะยูงขายจำนวน 3 ต้นที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ อ.ห้วยเม็ก โดยตัดไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค.66, (11) วันที่ 3 ก.ย.66 รับแจ้งกลุ่มชายฉกรรจ์ 7 คน เข้าไปเจาะไม้พะยูงในโรงเรียนโคกกลางเหนือ อ.ห้วยเม็ก, (12) วันที่ 5 ก.ย.66 เกิดเหตุลักลอบตัดที่โรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ 1 ต้น, (13) วันที่ 10 ก.ย.66 ลักลอบตัดไม้ประดู่พื้นที่ ส.ปก. ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ 38 ต้น และ (14) ล่าสุดพบหนังสือขออนุญาตตัดและขายไม้พะยูงทอดตลาด 17 ท่อน ที่โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว รวม 2 ครั้งจำนวน 6 ต้น ทั้งนี้ ปรากฏเอกสารการขออนุญาตและให้อนุญาต ซึ่งเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่าง ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กับธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ โดยระบุคำสั่ง ลายมือลงชื่อรับรองคำสั่ง รายชื่อคณะกรรมการประเมินราคาชัดเจนทั้ง 4 โรงเรียน คือโรงเรียนคำไฮวิทยา โรงเรียนหนองโนวิทยา โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ และโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี