วันที่ 18 กันยายน 2566 รายการโหนกระแส ได้พูดคุยกันต่อในประเด็นคดีใหญ่ คดีกำนันนก ในประเด็นของการดำเนินคดีกับตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยวันนี้ได้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม และ อาจารย์ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส มาร่วมวิเคราะห์ในประเด็นนี้
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม มองว่า คดีกำนันนก สะท้อนเรื่องความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อตำรวจ และการสืบสวนสอบสวน
ถามว่าทำไมถึงไม่เอาวงจรปิดออกมาเปิด จะมาอ้างว่าเป็นการสาวไส้ให้กากินไหม เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาสู้คดีได้หรือไม่ ตนมองว่ามันไม่ใช่ เพราะภาพวงจรปิดมันบันทึกภาพที่เกิดขึ้นจริง ใครจะไปแก้ไขบิดเบือนอะไรได้ ยุคนี้สมัยนี้การสอบสวนต่างๆ ต้องทำอย่างโปร่งใส ประชาชนมีสิทธิ์จะรับรู้ข้อมูล ตนมองว่าภาพที่เขาไม่อยากให้ประชาชนเห็น คือภาพที่ตำรวจวิ่งหนีแตกกระเจิงหลังมีเสียงปืนดังขึ้นมากกว่า
ประชาชนกำลังสงสัยเรื่องเกี่ยวกับคดี เขาให้ความสนใจกับคดีนี้เป็นพิเศษ ถึงขั้นที่ถามว่ากำนันนกที่ถูกจับได้ มันเป็นตัวจริงหรือเปล่า อันนี้มันสะท้อนวิกฤตความเชื่อมั่นที่ประชาชนที่มีต่อตำรวจ มันไม่เหลือเลย ส่วนภาพวงจรปิดก็มีหมดยกเว้น 2 ตัวตรงจุดเกิดเหตุ
ก่อนหน้านี้ตอนที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ดูแลให้ข้อมูลคดี ตนก็มองว่าเขาให้ข้อมูลชัดเจนโปร่งใสดี แต่ไปๆ มาๆ ก็มีการโอนคดีไป บช.ก. เขาเปลี่ยนทำไมตนยังไม่เข้าใจเลย กลายเป็นว่าหลังจากนี้อาจจะได้แต่คำตอบว่า อยู่ในสำนวน เป็นความลับในสำนวนอย่างเดียวหรือเปล่า
กรณีของกำนันนก เชื่อไหมว่าก่อนหน้านี้เขาไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพล เพิ่งจะมาเป็นหลังเกิดเรื่อง เพราะก่อนหน้านี้เขาเป็น “ผู้มีอุปการะคุณ” ของตำรวจในพื้นที่ ใครอยากได้อะไรก็วิ่งเข้าหา ขาดเหลืออะไรก็บอกกำนัน ถึงขั้นเอาตำรวจไปนั่งแล้วสั่งตำรวจถอดเสื้อได้ ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา
เมื่อถามว่าตำรวจที่ไปร่วมงาน นายไหนจะรอดไม่รอด ต้องดูว่าความผิด มันมีทั้งความผิดอาญา การละเว้นปฏิบัติหน้าที่ การทำลายพยานหลักฐาน และเรื่องความผิดทางวินัยร้ายแรง หรือไม่ร้ายแรง การให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ อันนี้ต้องไปไล่เรียงว่าใครผิดอะไรตรงไหน
ขณะที่อาจารย์ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม มองว่า การจะอ้างว่าให้การช่วยเหลือคนเจ็บ ถ้าจะบอกว่าช่วย ต้องอุ้มขึ้นรถไปส่งโรงพยาบาล ไม่ใช่ตามไปทีหลัง เอาหน้าไปโผล่ในกล้องโรงพยาบาล แบบนั้นเขาไม่เรียกว่าช่วย แล้วหน้าที่ของตำรวจ ต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ไอ้พวกที่พาผู้ต้องหาหนี มันผิดแน่นอนอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องการฮั้วประมูล ตนมองว่าเป็นการเบนความสนใจไปเรื่องอื่น พอมีการเปิดประเด็นขึ้นมา คนก็แห่ไปสนใจเรื่องฮั้วประมูลกันหมด เพื่อให้หนีประเด็นเรื่องส่วยทางหลวง ถามว่าตอนนี้มีใครถามเรื่องส่วยทางหลวงบ้างหรือยัง
ขณะที่ อาจารย์ปรเมศวร์ มองว่า ที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกว่าส่วยทางหลวงมันเป็นตัวต้นเหตุนี่ถูกต้อง แต่มันไปด้วยกัน พัวพันกันหมดกับเรื่องฮั้วประมูล เพราะการได้ประโยชน์จากการจ่ายส่วยบรรทุกน้ำหนักเกิน มันก็เป็นข้อได้เปรียบในการฮั้วประมูลอีกที แต่เข้าใจว่าที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกว่าเอาให้จบก่อน ก่อนจะไปเรื่องอื่น ก็คือการเอาผิดตำรวจที่เกี่ยวข้งในเหตุการณ์ยิงสารวัตรศิวกร ทำตรงนี้ให้จบ แล้วค่อยขยายผลไปเรื่องอื่นๆ
พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังบอกอีกว่า เมื่อก่อนนี้ตำรวจอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย มีลำดับขั้นให้การปกครองดูแล แต่พอแยกออกมาดูแลกันเอง ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีคนเดียว ใครก็ไปจัดการอะไรเขาไม่ได้ สมัยเมื่อก่อนเป็นอธิบดีกรมตำรวจ มันเคยมีคำว่า “บิ๊ก” นำหน้าชื่อที่ไหน พอมาอยู่กันเอง เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทีนี้ก็บิ๊กเลย เดี๋ยวนี้ผู้การจังหวัด ไม่เข้าประชุมกับผู้ว่าฯ กับข้าราชการระดับจังหวัดแล้ว ทั้งที่จริงๆต้องทำ
โดยส่วนตัวตนมองว่า ตำรวจทั้งหมดที่อยู่บ้านกำนันนกในวันนั้น จะไม่มีใครติดคุกสักคน ถามว่าติดเรื่องอะไร เรื่องการละเว้น เดี๋ยวก็จะมีการอ้างว่าช่วยเหลือแล้ว นู่น นี่ นั่น พอเวลาผ่านไปเรื่องก็จางหายไป
แต่อาจารย์ปรเมศวร์มองว่า เห็นต่างกับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ที่ว่าจะไม่มีตำรวจนายไหนถูกเอาผิด เพราะถ้าไม่มีเลย มันแปลว่ามีการช่วยเหลือกันแน่นอน ซึ่งถ้าช่วยเหลือกัน มันซวยทั้งองค์กร ให้จับตาดู ผบ.ตร.คนใหม่ที่จะมาแทนที่คนปัจจุบันที่กำลังจะเกษียณ เขาจะเอาจริงเอาจังแค่ไหน ถ้าเลือกเดินทางเดิม ก็คงไม่มีทางแก้ได้
ส่วนเรื่องการที่ รมช.มหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ประกาศจะขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพล อาจารย์ปรเมศวร์ มองว่า คนที่ทำต้องมีอำนาจจัดการผู้มีอิทธิพลคือใคร รัฐมนตรีช่วยเขามีอำนาจจับกุมใครที่ไหน มันต้องเป็นตำรวจถึงจะตรงหน้าที่ ให้คนมีอิทธิพลมาขึ้นบัญชี ขึ้นทำไม ขึ้นไว้ดูเล่นหรือ#ตำรวจ #กำนันนก #ผู้มีอิทธิพล #วงการตำรวจ #โหนกระแส