ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ยื่นข้อเสนอในการขอใบอนุญาตอาวุธปืนเพื่อป้องกันการทุจริต เรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยยื่น 7 ข้อเสนอไปยังกรมการปกครอง ภายหลังจากปรากฏข้อเท็จจริงจำนวนมากในการเรียกรับผลประโยชน์ เช่นกรณีจับกุมปลัดอำเภอ และล่าสุดกรณีกำนันนก
วันนี้ 23 ก.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศาลากลางชั้น 3 นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผอ.ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ป.ป.ช.ตรัง เปิดเผยว่า ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการทุจริตในพื้นที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ในการจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตในการรับสินบนการออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุน ในการศึกษามาตรการดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชน ภาคประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอมาตรการ จำนวน 3 ครั้ง และมีคณาจารย์จากมหาลัยสวนดุสิต เป็นทีมศึกษาและวิจัยในเรื่องดังกล่าว
ประกอบกับได้เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนของกรมการปกครองในการรับฟังร่างมาตรการ ซึ่งทางกรมการปกครองเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และหากมาจากข้อเสนอของทางสำนักงาน ป.ป.ช. ก็จะสามารถดำเนินการได้และไม่มีขัดข้องแต่อย่างใด
โดยข้อกฎหมาย พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในเรื่องดังต่อไปนี้ (3) เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้
ซึ่งข้อพิจารณาในการขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490 มีช่องว่างในการใช้ดุลพินิจ มีปัญหาในหลักเกณฑ์ ที่ไม่จำกัดจำนวนอาวุธปืนขั้นสูงสุดของคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตแต่ละราย ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน จนปรากฏว่า มีการให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในการขออนุญาต ประกอบกับกับมีคดีที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหา หรือการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อตอบแทนในการดำเนินการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขอซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3) และมีผลคำสั่งไล่ออกจากราชการ เช่นกรณีจับกุมปลัดอำเภอแห่งหนึ่งกลางที่ว่าการอำเภอ ฐานรับสินบนในการขออนุญาตออกอาวุธปืน และล่าสุดกรณีกำนันนกที่มีการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปก่อเหตุ
โดยที่มาตรการ ข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการเรียกหรือรับสินบนในการขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เห็นควรมีข้อเสนอแนะ มาตรการไปยังกรมการปกครอง จำนวน 7 ข้อ ซึ่งขณะนี้ทาง ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง ได้ดำเนินการเสนอไปยังประธาน ป.ป.ช. แล้ว รอทางคณะกรรม ป.ป.ช.พิจารณาจาก
1. กรมการปกครองต้องดำเนินการกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ อาชีพ รายได้ ทรัพย์สิน อาวุธปืน ชนิด ขนาด ให้มีความชัดเจน เพื่อประกอบการใช้ดุลยพินิจพิจารณาของเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
2. กรมการปกครองต้องกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องมีหลักฐานใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของบุคคล โดยผู้ที่ขออนุญาตมีหรือใช้อาวุธปืนต้องมีสุขภาพจิตที่เป็นปกติ และเป็นบุคคลที่มีความจำเป็นในการพกพาอาวุธเท่านั้น โดยออกเป็นระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องคุณสมบัติของบุคคลผู้ยื่นคำขอตามมาตรา 13 โดยต้องมีใบรับรองจากแพทย์หรือแพทย์ที่จบด้านจิตเวช หรือนักจิตวิทยา
3. กรมการปกครองต้องกำหนดคุณสมบัติผู้ขออนุญาตว่าต้องมีรับหนังสือรับรองความสามารถว่าเป็นบุคคล ผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จากสมาคมยิงปืนหรือจากสนามยิงปืน ที่ได้รับรองมาตรฐานจากทางราชการ โดยต้องให้มีการอบรมและทดสอบความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน
4. กรณีมีคำพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน ให้พนักงานสอบสวน ส่งสำเนาคำพิพากษาให้นายอำเภอเพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป 5.กรมการปกครองต้องจัดให้มีการทำระบบการเปิดเผยขั้นตอนตั้งแต่การยื่นขออนุญาตมีอาวุธปืน จนถึงการเสร็จสิ้นในระบบออนไลน์และประชาชนสามารถติดตามสถานะได้ (Case Tracking) ในการขออนุญาตได้
6.กรมการปกครองควรกำหนดตัวชี้วัดของอำเภอให้ดำเนินการจัดกิจกรรมในการเผยแพร่การไม่เรียก ไม่รับ สินบนในการขออนุญาตและกฎหมายที่เกี่ยวกับโทษของประชาชนในการให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในจ่ายสินบน ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ
7.กรมการปกครองควรกำหนดตัวชี้วัดของอำเภอให้มีการรณรงค์ส่งเสริมสร้างจิตสำนึกและยึดมั่นในมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการไม่เรียกรับสินบนและการกระทำผิดต่อหน้าที่และสร้างสื่อที่ต่อต้านหรือแจ้งเหตุของการทุจริตของข้าราชการ - 003