รายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ย่อมาจาก Environmental Impact Assessment Report คือการศึกษาเพื่อผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการตัดสินใจพัฒนาโครงการ
“รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ในพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีความหมายคือ “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า กระบวนการศึกษาและประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นจากการดําเนินโครงการหรือกิจการหรือการดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้มีการดําเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านกระบวนการ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกําหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ผลการศึกษา เรียกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โดยในกฎหมายดังกล่าวได้มีประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดโครงการที่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไว้ 35 ประเภท ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในโครงการที่ขนาดใหญ่และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การทำเหมืองแร่ การพัฒนาปิโตรเลียม นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น นอกจากจะกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ แล้ว ยังวางหลักไว้ในรัฐธรรมนูญ หลายฉบับรวมถึง ฉบับ พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 58 “การดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดําเนินการ ถ้าการนั้นอาจมี ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อมสุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณา ดําเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแม่บทรวมถึงกฎหมายระดับ พ.ร.บ.รวมถึงประกาศ ระเบียบข้อบังคับได้มีการพัฒนาหลักเกณฑ์ ในการระมัดระวังเรื่องปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการใหญ่ๆ หรือโครงการที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้อย่างรัดกุม
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่แท้จริงในการจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม คือปัญหาในทางปฏิบัติเรื่องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการนั้นๆ ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง หรือแสดงความคิดเห็นแล้วไม่ได้นำไปใส่ไว้ในรายงานฯ หรือไม่ได้นำไปพิจารณาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ
เมื่อโครงการไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจาก ประชาชน ชุมชน ที่ได้รับความกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงแล้ว ในทางกฎหมายจะมีแนวทางแก้ไขหรือฟ้องร้องอย่างไร ผู้เขียนจะขอนำเสนอในสัปดาห์ถัดไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี