เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดจุดตรวจสินค้าเกษตรแบบบูรณาการ (ปศุสัตว์ พืช ประมง) พร้อมมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และพบปะเกษตรกรในพื้นที่ ณ ด่านศุลกากรสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยกล่าวว่าจังหวัดกาญจนบุรีมีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ระยะทาง 371 กิโลเมตร ประกอบด้วย ช่องทางเข้าออกตามธรรมชาติ 43 ช่องทาง และมีด่านชายแดนที่สำคัญ 2 ด่าน ได้แก่ จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมืองกาญจนบุรี และจุดผ่อนปรนทางการค้า ด่านพระเจดีย์สามองค์ (จุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว) อำเภอสังขละบุรี มีพื้นที่ทำการเกษตร 12,179,968 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 3,030,598 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ปลูกข้าว พืชไร่ พืชสวน และพืชอื่นๆ มีสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ไก่เนื้อ โคเนื้อ สุกร โคนม และแพะ มีสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม กุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม
ส่วนพื้นที่ปลูกยางพาราของจังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวน 103,705.86 ไร่ มีปริมาณผลผลิตเนื้อยางแห้งรวมทั้งจังหวัด 24,313.27 ตัน/ปี เป็นยางแผ่นดิบ 13,894.41 ตัน/ปี โดยใน อ.สังขละบุรี มีพื้นที่ปลูกยางพารา 22,858.68 ไร่ มีปริมาณผลผลิตเนื้อยางแห้ง 5,506.53 ตัน/ปี เป็นยางแผ่นดิบ 4,065.93 ตัน/ปี
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการตรวจสอบปริมาณผลผลิตยางในพื้นที่และสินค้ายางนำเข้า เพื่อควบคุมการนำเข้าให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน กยท.จังหวัด และ กยท.สาขา ที่อยู่ในพื้นที่เขตพรมแดนจะวางแผนสำรวจการผลิตยางธรรมชาติของเกษตรกรทั้งรูปแบบของผลผลิตยางที่ขาย จำแนกเป็นน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าปริมาณยางที่ขายในพื้นที่นั้นๆ มียางเถื่อนปนอยู่ด้วยหรือไม่ และกำหนดเป้าหมายสำรวจข้อมูลดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ กยท.ดำเนินมาตรการคู่ขนาน เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายเข้าสู่ไทย โดยให้จัดตั้งทีมสายลับยางเพื่อทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ เฝ้าระวังและสอดส่องการกระทำผิดกฎหมาย หากพบเบาะแสจะแจ้งแก่หน่วยงานผู้มีอำนาจดำเนินการจับกุมต่อไป อย่างไรก็ตาม กยท.พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง และจะชี้แจงให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทราบถึงโทษการรับซื้อสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงภาษี และกำกับควบคุมสถาบันเกษตรกรฯ ไม่ให้รับซื้อยางที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ กยท.จะขยายผลดำเนินการไปยังพื้นที่รอยต่อระหว่างพรมแดนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ระนอง ตาก และเชียงราย ด้วย
รมว.กษ. บอกด้วยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มีมาตรการในการพัฒนาคุณชีวิตของเกษตรกร จึงได้ขับเคลื่อนมาตรการในการตรวจจับการลักลอบการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศอย่างเข้มข้น โดยในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับรายงานว่าเป็นจุดที่มีการลักลอบนำเข้าสินค้ายางพาราจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงเกษตรฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และการยางแห่งประเทศไทย ได้สนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ จัดตั้งจุดตรวจสินค้าเกษตรแบบบูรณาการ เพื่อเป็นจุดสกัดและคัดกรองสินค้าที่นำเข้าสินค้าภาคการเกษตร ซึ่งในส่วนของการลักลอบนำยางพาราเข้ามาในราชอาญาจักร ประเทศไทยเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อสกัดกั้นไม่ให้สินค้าภาคการเกษตรทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ที่ผ่านมามีการจับกุม ตรวจสอบและอายัติสินค้าได้หลายร้อยตัน และสำหรับมาตรการในเรื่องของยางพารา กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขับเคลื่อนในเรื่องราคายาง โดยมาตรการตอนนี้คือต้องการระบายยางพาราออกนอกประเทศ สนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศ และที่สำคัญคือการจัดโซนนิ่งการกรีดยาง เพื่อป้องกันไม่ให้ยางล้นตลาด จึงเชื่อมั่นว่าจะทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี