เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2567 ที่ศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ ริมแม่น้ำโขง บ้านอาจสามารถ หมู่ 4 ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดฯ น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม นายสมศักดิ์ บุญจันทร์ นายอำเภอเมืองนครพนม น.ส.ณัตติยา สีใส ส.อบจ.อำเภอเมืองนครพนม เขต 1 ได้ร่วมพิธีเปิดงานประเพณีวันรวมใจไทแสก ประจำปี 2567 หรือวันปีใหม่ชาวไทแสก ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 โดย นายปรีชา ศรีสงค์ นายก อบต.อาจสามารถ และได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงาน ว่า เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีชาวไทแสก ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ชนเผ่าของ จ.นครพนม ที่มีบันทึกถึงถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศจีน และเวียดนาม ก่อนจะอพยพล่องลงมาถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว แล้วข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ที่ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม
ด้านนายไพรัตน์ สุสิงห์ กำนันตำบลอาจสามารถ กล่าวว่า งานวันรวมใจไทแสก เป็นวันที่ชาวไทแสกทุกคน ต้องมารวมตัวกัน ณ ศาลเจ้าเดนหวั่วโองมู้ ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เพื่อแสดงออกถึงความเคารพและนับถือซึ่งดวงวิญญาณบรรพบุรุษคือโองมู้ ที่ชาวไทแสกให้ความเคารพสักการะ กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย พิธีกรรมการกินเตรดเดน ซึ่งเป็นภาษาไทแสก หมายถึงจัดพิธีบวงสรวงไหว้บรรพบุรุษ คล้ายประเพณีวันตรุษจีน ทั้งนี้ชาวไทแสกเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ เป็นการสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น ก่อให้เกิดความรักความผูกพัน สร้างจิตสำนึก และหวงแหนในวัฒนธรรมของตน มุ่งสอนให้ผู้น้อยให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่กว่า มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเป็นการพบปะสังสรรค์กันทุกครัวเรือน
หลังพิธีบวงสรวงโองมู้แล้ว คือการแสดง "แสกเต้นสาก" ซึ่งเป็นการละเล่นประจำชนเผ่า จะมีขึ้นเฉพาะพิธีบวงสรวงโองมู้ ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เท่านั้น โดยชาวแสกจะเต้นสากถวายโองมู้ โดยอดีตใช้สากตำข้าว ลักษณะยาวประมาณ 2 เมตร ตรงกลางเรียวเล็ก ตีกระทบกันเป็นจังหวะประกอบการเต้น ร่วมกับดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองใหญ่ กลองเล็ก ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ และพังฮาด ที่มีลักษณะคล้ายฆ้อง ตรงกลางจะนูนเป็นวงกลม ภายหลังชาวแสกเลิกใช้สากตำข้าว จึงหันมาใช้ไม้ชนิดอื่นสมมติว่าเป็นสากตำข้าว แม้เสียงจะไม่หนักแน่นเหมือนสากกะเบือยักษ์ แต่ความไพเราะก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
การเต้นจะใกล้เคียงกับรำลาวกระทบไม้ (มีบันทึกว่าการเต้นสากเป็นต้นฉบับรำลาวกระทบไม้) และจังหวะจะโจ๊ะและเร็วกว่าลาวกระทบไม้ มีทั้งเต้นเดี่ยว เต้นคู่ โดยผู้ทำหน้าที่เคาะไม้สากจะนั่งตรงข้ามจับคู่กันประมาณ 5 ถึง 7 คู่ คนเต้นกับคนเคาะไม้จะต้องเข้าขา ผ่านการซ้อมกันมาอย่างดี ต่อมารำแสกเต้นสาก ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานราชการ เพื่อให้ดำรงคงอยู่เป็นสมบัติของชาวไทแสกตลอดไป พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของจังหวัดนครพนม
ทั้งนี้ การละเล่นแสกเต้นสาก จากเดิมมีให้เห็นเฉพาะในวันบวงสรวงโองมู้ ปัจจุบันมีให้ชม ในวาระสำคัญของ จ.นครพนม เช่นมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือน หรือเทศกาลอื่นๆ ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
จากบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ในหนังสือโบราณคดี เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวแสก ว่า มีถิ่นเดิมอยู่แถบเมืองวินห์ เมืองรอง ตั้งอยู่ระหว่างชายแดนจีนและเวียดนาม โดยอพยพมาตามแม่น้ำโขง มีบางส่วนได้แยกไปตั้งถิ่นฐานอยู่แคว้นสิบสองปันนา บางกลุ่มโยกย้ายอยู่บ้านโพธิ์ค้ำ บ้านตอกดอกแค เมืองท่าแขก สปป.ลาว และมีบางส่วนได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งประเทศไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมีโองมู้เป็นผู้นำในการอพยพในครั้งนี้
ซึ่งจากงานเขียนของนายสุรจิตร จันทรสาขา ได้กล่าวไว้ว่า พระสุนทรราชวงษา (ฝ้าย) ให้ชาวแสกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ป่าหายโศก เพราะทรงเห็นว่ามีนิสัยรักสงบ และทรงแต่งตั้งให้เป็นกองอาทมาต ทำหน้าที่ลาดตระเวนตามแนวน้ำโขง ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งชุมชนเผ่าไทแสกให้เป็นเมืองอาทมาตขึ้นกับเมืองนครพนม โดยให้ท้าวฆาน บุตดี เป็นหลวงเอกอาษา ทำหน้าที่เป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากอาทมาตเป็นเมืองอาจสามารถ
และในเอกสารจดหมายเหตุ ร.3 จ.ศ.1191 เลขที่ 3 หอสมุดแห่งชาติ มีข้อความกล่าวถึงประวัติการตั้งเมืองอาจสามารถ ว่า ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค ให้เป็นแบบเดียวกันทั่วราชอาณาจักร โดยให้ยกเลิกการปกครองแบบโบราณของเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน ซึ่งเคยปกครองแบบมีเจ้าเมืองอุปฮาต ราชวงศ์ และราชบุตรทั้งหมด ให้เปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกบัตรเมือง โดยให้เมืองนครพนมมีพระยาพนมนครานุรักษ์ เป็นผู้ว่าราชการเมือง แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ 1.อ.เมืองนครพนม 2.อ.เรณูนคร 3.อ.อาจสามารถ 4.อ.อากาศอำนวย 5.อ.กุสุมาลย์ และ มลฑลอำเภอโพธิไพศาล
ต่อมา อ.อากาศอำนวย อ.กุสุมาลย์ และมลฑลอำเภอโพธิไพศาล ถ่ายโอนไปขึ้นกับ จ.สกลนคร ส่วน อ.อาจสามารถได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น ต.อาจสามารถ เนื่องจากเขตอำเภอเมือง กับ อ.อาจสามารถมีพื้นที่ติดกัน ห่างกันแค่ 4 กม.เท่านั้น โดยชนเผ่าไทแสก จะอาศัยอยู่มากที่บ้านอาจสามารถ และบ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม มีบางส่วนที่แยกไปอยู่ที่บ้านบะหว้า อ.นาหว้า และ บ้านดอนสมอ อ.ศรีสงคราม ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้จะแยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ต่างบ้านต่างอำเภอ แต่ชนเผ่าไทแสกจะมีบรรพบุรุษคนเดียวกันคือโองมู้นั่นเอง
---017
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี