ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง"อ.ไชยันต์ ไชยพร"นักวิชาการคนดัง ม.จุฬาฯ หลังถูก"อ.ณัฐพล ใจจริง"ฟ้องหมิ่นเรียกค่าเสียหาย 1 ล้าน หลังตรวจสอบวิทยานิพนธ์ พบความคลาดเคลื่อน บิดเบือน ศาลชี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ติชม ด้วยความเป็นธรรม สามารถโต้แย้งวิทยานิพนธ์ได้ เจ้าตัวยันทำเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 5 มีนาคม 67 ที่ห้องพิจารณาคดี 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำอ.1939/2565 ที่นายณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำสังกัดคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" และ "ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี" ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็นโจทก์ฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดนการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 พร้อมเรียกค่าเสียหายจำนวน1 ล้านบาท
คดีสืบเนื่องจาก นายไชยันต์ จำลย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กของตนเอง ชื่อ Chaiyan Chaiyaporn โดยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์หลายครั้งหลายหนต่างกรรมต่างวาระ เช่น วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 กล่าวหาว่า นายณัฐพล โจทก์ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เป็นบุคคลที่จัดทำวิทยานิพนธ์ระดับชั้นปริญญาเอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) และผู้เขียนหนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" และ "ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี"ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เอกราช ที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนายณัฐพล ได้แจ้งความดำเนินคดีไว้ที่สน.หัวหมากและยื่นฟ้องเป็นคดีอาญา เมื่อวันที่ 12 กฤกฎาคม 2565
คดีนี้ศาลไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ
โดยในวันนี้ นายไชยันต์ จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อม น.ส.อัจฉรา แสงขาว ทนายความ ขณะที่โจทก์มอบอำนาจให้เสมียนทนายความมาฟังคำพิพากษา
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า โจทก์จัดทำวิทยานิพนธ์และผลงานโดยใช้เสรีภาพทางวิชาการ ดังนั้น จำเลยในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมมีเสรีภาพในความเห็นต่างจากเนื้อหาหรือข้อความในผลงานของโจทก์ได้เช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยเป็นหัวหน้าโครงการงานวิจัยและดำเนินการวิจัยผลงานต่างๆ ของ นักวิชาการ จนตรวจพบจุดบกพร่องในวิทยานิพนธ์ของโจทก์และจำเลยแจ้งไปยังบัณฑิตวิทยาลัยจนมีคำสั่งระงับเผยแพร่วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวของโจทก์แล้วตั้งแต่ปี 2562 แต่โจทก์กลับนำเนื้อหาที่มีจุดบกพร่อง ดังกล่าวไปพัฒนาเขียนเป็นหนังสือและมีการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชน จำเลยในฐานะประชาชน
ทั่วไปย่อมมีสิทธิตรวจสอบว่าเนื้อหาในบทความ หรืองานเขียนดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่ แม้จะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของโจทก์หรือแม้จำเลยไม่ได้รับผลกระทบจากเนื้อหาในวิทยานิพนธ์หรือบทความและหนังสือของโจทก์ก็ตาม ยิ่งกว่านั้นในฐานะที่จำเลยเป็นนักวิชาการซึ่งมีประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา เมื่อจำเลย ตรวจสอบแหล่งอ้างอิงโดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ มาเบิกความสนับสนุนว่าจำเลยได้ ทำการตรวจสอบตามหลักวิชาการแล้ว ปรากฏว่าไม่มีข้อความที่โจทก์เขียนจากแหล่งอ้างอิง อีกทั้งมีแต่การตีความข้อความเห็นโดยไม่มีข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง อันมีลักษณะที่จำเลยเห็นว่าเป็นการบิดเบือน จำเลยย่อมมีสิทธิทางวิชาการ หรือโต้แย้งและนำเสนอต่อสาธารณชนได้ไม่ว่ารูปแบบใด เช่น สื่อ ออนไลน์ เว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น เฟซบุ๊ก และให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบข้อความอีกด้าน
อีกทั้ง เพื่อความเป็นธรรมต่อบุคคลที่โจทก์กล่าวถึงในผลงาน โดยเฉพาะผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและไม่มีโอกาส โต้แย้งหรือให้ข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความเป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งโจทก์เขียนถึงโดยไม่ปรากฏแหล่งอ้างอิง การโพสต์ข้อความของจำเลยตามฟ้องนับว่าจำเลยได้กระทำหน้าที่ของบุคคลในฐานะปวงชนชาวไทยในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 50 (1) รวมทั้ง นับได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)(3) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทฯตามฟ้อง ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังขึ้น ข้อเท็จจริงอื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายกฟ้อง
ภายหลังนายไชยันต์ เปิดเผยว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วเพราะตนเองไม่ได้ไปให้ร้ายใคร แล้วก็มีหลักฐานทุกอย่างครบถ้วน ตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสิ่งที่คนอื่นเขียนมา และศาลบอกว่าสามารถที่จะสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก สื่อออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องไปเขียนวิจารณ์ผ่านบทความวิชาการ เพราะว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ และสิ่งที่โจทก์เขียนมาก็บิดเบือนและไม่มีหลักฐานรองรับ เมื่อตนตรวจพบข้อบกพร่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในอดีต แต่ต่อให้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ อย่างน้อยก็ต้องให้มีความถูกต้องทางวิชาการ การอ้างอิงจะต้องมีหลักฐาน ไม่กุเรื่องขึ้นมา
“ความเสียหายที่เกิดขึ้นแน่นอน คือ ความเข้าใจผิดว่ารัชกาลที่ผ่านมา สนับสนุนรัฐประหาร มีความกระตือรือล้นลงนามให้กับคณะรัฐประหาร ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็จะทำให้เยาวชนที่มาอ่านหนังสือที่ตีพิมพ์ช่วงปี2556 และ 2563 เข้าใจผิดได้" นายไชยันต์ กล่าวและว่า
ทั้งหมดนี้อาจมาจากนักวิชาการบางท่านที่เขียนอะไรบิดเบือน โดยอ้างเชิงอรรถ (footnote) อย่างดี เป็นภาษาอังกฤษ จากหอจดหมาย หรือ รายงานสถานทูตอเมริกา เป็นต้น แต่เมื่อเราอ่านแล้วไปตรวจสอบก็พบว่าไม่เป็นความจริงตามนั้น ปัจจุบันตนยังเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมานานตั้งแต่ปี 2535 นับเป็นร้อยๆ เล่ม และตนเองค่อนข้างมีความเข้มงวด ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทางวิชาการ.-001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี