บุญบั้งไฟเป็นประเพณีขอฟ้าฝน ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวอีสาน โดยจัดกันในเดือนหก ตามปฏิทินทางจันทรคติ คือ ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 - แรม 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งคนไทยให้ความสำคัญกับเดือนหกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ฤดูฝนกำลังเริ่มต้นขึ้น ชาวบ้านจะจุดบั้งไฟเป็นการบูชาขอให้พญาแถนบันดาลฝนให้ตกลงมา
เช่นที่ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถือเป็นชุมชนต้นกำเนิดชนเผ่าไทยญ้อในประเทศไทย ดร.เดือน-มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม และ สส.นครพนม เขต 2พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมเปิดงานสืบสานประเพณีไหว้หลวงพ่อใหญ่ จุดบั้งไฟบูชาพญาแถน เป็นงานประเพณีท้องถิ่น ที่จัดสืบทอดกันมาตั้งแต่ตั้งชุมชน เพื่ออนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม รวมถึงสืบสานความเชื่อชาวอีสาน ในการจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน เพื่อขอฟ้าขอฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ โดย รมช.คมนาคม และ สส.นครพนมเขต 2 พรรคเพื่อไทย พร้อมสนับสนุนให้เป็นงานประเพณีสำคัญท้องถิ่น ดึงดูดประชาชนนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าการท่องเที่ยว
สำหรับการจัดงาน มีไฮไลท์สำคัญในการเปิดงาน คือ อัญเชิญเจ้าพ่อโต่งลงหอ ที่มีศาลตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง รวมถึงเจ้าพ่อเสน เจ้าพ่อเฒ่า ผู้ปกปักษ์รักษาคุ้มครองเมืองไชยบุรีมาแต่โบราณ ตลอดจนชาวลุ่มน้ำโขงตลอดแนว มาประทับร่างนางเทียม เพื่อพบปะให้พรลูกหลานสืบกันมาอย่างต่อเนื่องไม่เคยเว้น และการแสดงของลูกหลานเยาวชน ไปจนถึงการแสดงรำเซิ้งบุญบั้งไฟ ที่สร้างความสวยงาม ตื่นตา อลังการ แก่ประชาชน นักท่องเที่ยวรวมถึงสีสันความสนุกสนาน แสดงออกถึงความโดดเด่นของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมีขบวนแห่ของชาวบ้านกว่า 20 หมู่บ้าน การประกวดสาวงามเทพีบั้งไฟ ประกวดรำเซิ้งบั้งไฟ และจุดบั้งไฟบูชาพญาแถนตามประเพณีความเชื่อ
ทั้งนี้ บ้านไชยบุรี เดิมชื่อเมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรีหรือเมืองไชยะบุรี อยู่ในเขตการปกครองของเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยในสมัยนั้น มีท้าวหม้อและนางสุนันทา เป็นหัวหน้าไทยใหญ่ชาติพันธุ์ไทญ้อ(ย้อ)ได้พาบุตรและบ่าวไพร่ อพยพลงมาตามแม่น้ำโขง จึงได้สร้างเมืองขึ้นมา และตั้งชื่อว่าเมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี ขึ้นตรงต่อเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งขณะนั้นเวียงจันทน์ขึ้นตรงต่อประเทศไทย ตามหลักฐานระบุว่าสร้างเป็นชุมชนเมื่อปี พ.ศ.2351 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ ท้าวหม้อกลัวภัยจึงอพยพพาครอบครัวบ่าวไพร่หนีไปเมืองปุงลิง เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรีจึงกลายเป็นเมืองร้าง รัชกาลที่ 3 จึงได้มีท้องตราราชสีห์แต่งตั้งให้ราชวงศ์เสนซึ่งเป็นตระกูลเสนจันทร์ฒิไชย มาเป็นไชยราชวงษาปกครองเมืองฯ หลายปีต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองไชยบุรี และยกฐานะเป็นอำเภอไชยบุรี กระทั่งปี พ.ศ.2450 ยุบอำเภอไชยบุรี เป็น ต.ไชยบุรี ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในเขต อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
เนื่องจากราชวงศ์เสนมาจากยโสธร ได้นำเอาประเพณีบุญบั้งไฟมาด้วย จึงทำให้มีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟมาโดยตลอดจน บุญบั้งไฟเป็นงานที่จัดเพื่อจุดถวายพญาแถน เพื่อขอฝนตกต้องตามฤดูกาลชาวไชยบุรีเชื่อว่า ถ้าไม่จัดงานบุญบั้งไฟแล้ว จะไม่มีน้ำพอที่จะทำนา และยึดถือเป็นงานสำคัญทางศาสนาในท้องถิ่นที่แฝงไว้ด้วยความหมายในทางขอฝนเทวดา เพื่อการกสิกรรม ทำไร่ ทำนา จึงได้ถือเอาช่วงบุญเดือนหกของทุกปี จัดกิจกรรมประเพณีบุญบั้งไฟขึ้นดังกล่าว
นอกจากนี้ ต.ไชยบุรี มีชัยภูมิตั้งอยู่บริเวณจุดแม่น้ำสงคราม ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง จึงเรียกบริเวณนั้นว่าปากน้ำไชยบุรี หรือแม่น้ำสองสี มีปลาชนิดหนึ่งชุกชุมมาก ชาวบ้านเรียกว่าปลาโด จนชาวบ้านจับมากินได้ทุกวัน เมื่อเหลือก็นำไปขาย แต่ไม่มีใครสนใจเพราะปลาชนิดนี้สมัยนั้นหาง่ายในลุ่มน้ำสงคราม ชาวบ้านจึงนำมาดัดแปลงเป็นส้มปลาโด มีรสชาติอร่อย เนื้อปลาแน่น ห่อด้วยใบตอง เก็บไว้ได้นานโดยรสชาติไม่เปลี่ยน รับประทานโดยการนึ่ง ย่าง ทอด จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน โดยพบว่าส้มปลาโด มีความโดดเด่นไม่เหมือนที่ไหน จึงมีการผลักดันนำออกสู่ตลาด และได้มาตรฐานสินค้าโอท็อป ระดับ 5 ดาว ยืนยันความอร่อย สะอาด ปลอดภัย ไร้สารพิษ นอกจากนี้ยังต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ปลาร้าตัวใหญ่ ส้มแหนมเนื้อวัว ซึ่งได้มาตรฐานโอท็อปเช่นเดียวกัน
พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี