“รมว.ธรรมนัส”สั่งกรมปศุสัตว์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัยเต็มกำลัง อธิบดีกรมปศุสัตว์แนะ 4 มาตรการในการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย ล่าสุดส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยขนย้ายลูกหมู 8,000 ตัว ออกจากฟาร์มในจังหวัดตราด ส่วนพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ส่งเสบียงอาหารสัตว์“หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน”ให้แล้ว
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นายสัตวแพทย์ สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้ออกข้อแนะนำแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้ 1.เตรียมและสำรองเสบียงสัตว์ให้เพียงพอ
2.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 3.ติดต่อขอปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต่อปศุสัตว์อำเภอเพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน 4.ร่วมกันจัดตั้งจุดอพยพสัตว์ใกล้บ้าน และ 5.ประสานขอความช่วยเหลือเมื่อมีภัย (อาสาปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น - ท้องที่ ปศุสัตว์อำเภอ/ปศุสัตว์จังหวัด)
ทั้งนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการให้กรมปศุสัตว์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่ ล่าสุดเกิดฝนตกหนักที่จังหวัดตราดทำให้เกิดน้ำท่วมฟาร์มสุกรในหมู่ที่ 4 ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตราด ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ด่านกักกันสัตว์ตราด ด่านกักกันสัตว์สระแก้ว ปกครองจังหวัดตราด นายอำเภอเขาสมิง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตราด ทหารมณฑลทหารบกที่ 19 หน่วยนาวิกโยธินจันทบุรี-ตราด จิตอาสา กำนัน ผู้ใหญ่บ้านบ้านทางควาย ช่วยเหลือในการขนย้ายสุกรจากฟาร์ม ชื่อ ฟาร์มณรงค์ศักดิ์ ฟาร์มอภิพัฒน์ ฟาร์มฉัตรชัย และฟาร์มลินดา ซึ่งมีโรงเรือนสุกร 8 โรงเรือน จำนวน 8,000 ตัว เพื่อย้ายไปไว้ที่ฟาร์มจำเรียง กับสุรพลฟาร์ม ในหมู่เดียวกัน แต่ตั้งอยู่ในที่สูง สุกรในฟาร์มที่ถูกน้ำท่วมเป็นลูกสุกรอายุ 6 - 12 สัปดาห์ ตายประมาณร้อยละ 5 - 10 คาดว่าจะขนย้ายแล้วเสร็จประมาณ 22.00 น.คืนนี้
ส่วนที่ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้รับผลกระทบจากทำนบอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำทรุดตัวทำให้น้ำไหลเข้าท่วม สำนักพัฒนาอาหารสัตว์และหน่วยงานสังกัดกรมปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม นำเสบียงสัตว์ “หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน” 4,000 กิโลกรัม ส่งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ 230 ครัวเรือน ประกอบด้วย โค 580 ตัว และกระบือ 70 ตัว ขณะนี้เป็นน้ำท่วมขังรอการระบาย โดยไม่มีพื้นที่ปล่อยเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านนำสัตว์มารวมกันไว้ในที่สูง หน่วยงานในพื้นที่ได้เฝ้าระวังและสื่อสารกับผู้นำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์รายงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ล่าสุดว่า มีจังหวัดได้รับผลกระทบ 2 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม และตราด จำนวน 3 อำเภอ 11 ตำบล 63 หมู่บ้าน เกษตรกร 4,528 ราย มีสัตว์ได้รับผลกระทบ 160,206 ตัว เป็นโค 20,236 ตัว กระบือ 2,306 ตัว สุกร 11,783 ตัว แพะ/แกะ 62 ตัว และสัตว์ปีก 125,819 ตัว สำหรับการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ได้ส่งมอบพืชอาหารสัตว์ 13,000 กิโลกรัม และช่วยอพยพสัตว์ 10,291 ตัว
หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ประสบอุทกภัยและต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร:02-6534444 ต่อ 3315 E-mail : disaster@did.go.th
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี