"ซีพีเอฟ"ยื่นหนังสือกมธ. แจงละเอียดทำลายซากปลาและส่งมอบตามที่กรมประมงแนะนำ ด้าน"ณัชชา"เตือน"ซีพี" ชิ่งแจง"อนุกมธ.สางปัญหาปลาหมอคางดำ"จะยิ่งสร้างความสงสัยเพิ่ม เผยสัปดาห์หน้าเชิญ"กฤษฎีกา-หน่วยประเมินความเสียหายสิ่งแวดล้อม" เล็งคุยแนะให้รัฐฟ้องเรียกค่าเสียหาย"ทำลายระบบนิเวศ" บี้รัฐบาลจริงใจแก้ไขปัญหา หนุนตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยื่นหนังสือให้ข้อมูลคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แจงละเอียดทุกขั้นตอนการนำเข้าลูกปลาหมอคางดำ 2,000 ตัวจากประเทศกานา ตั้งแต่ปลามาถึงไทยจนถึงทำลายฝังซากและส่งซากปลาให้กรมประมง ผ่านการตรวจสอบและตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมฯ
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญบริษัทเข้าร่วมการประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึง ผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย นั้น บริษัทได้ชี้แจงว่า ซีพีเอฟ ได้นำเข้าลูกปลาหมอคางดำ ในชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ขนาด 1 กรัม จำนวน 2,000 ตัว จากประเทศกานา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ใช้เวลาเดินทาง 35 ชั่วโมง เมื่อมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิได้เปิดกล่องโฟมบรรจุลูกปลาพร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่ประจำ ณ ด่านกักกัน พบว่ามีลูกปลาตายจำนวนมาก และเมื่อรับลูกปลามาถึงฟาร์มได้ตรวจคัดแยกพบว่ามีลูกปลามีชีวิตเหลืออยู่เพียง 600 ตัว ในสภาพที่ไม่แข็งแรง จึงได้นำลูกปลาที่ยังมีชีวิตลงในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง ลูกปลาทยอยตายต่อเนื่องทุกวัน (ตารางแนบ)
เนื่องจากสภาพลูกปลาที่เหลือไม่แข็งแรงและจำนวนไม่เพียงพอต่อการวิจัย จึงโทรปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมประมง (นักวิชาการประมง 4 ตำแหน่งในขณะนั้น) กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสืออนุมัตินำเข้า โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้เก็บตัวอย่างใส่ ขวดโหลแช่ฟอร์มาลีนและให้นำมาส่งที่กรมประมง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 2 ของการรับปลาเข้ามา จึงเก็บตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ดองฟอร์มาลีนเข้มข้นเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
วันที่ 6 มกราคม 2554 (สัปดาห์ที่ 3) เนื่องจากมีปลาทยอยตายเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยทั้งหมด และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดโดยใช้คลอรีนใส่ลงน้ำในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เพื่อฆ่าเชื้อและทำลายลูกปลาที่เหลือ หลังจากนั้น เก็บลูกปลาทั้งหมดแช่ฟอร์มาลีนเข้มข้น 24 ชั่วโมง แล้วนำมาฝังกลบพร้อมโรยปูนขาวในวันที่ 7 มกราคม 2554 รวมระยะเวลาที่ลูกปลาชุดนี้มีชีวิตอยู่ในประเทศไทยเพียง 16 วันเท่านั้น และบริษัทได้แจ้งต่อกรมประมงถึงการตายของลูกปลา รวมถึงได้ทำลายซากลูกปลาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมประมงท่านดังกล่าว และส่งตัวอย่างลูกปลาดองทั้งตัวในฟอร์มาลีนทั้งหมด 50 ตัว จำนวน 2 ขวด ๆ ละ 25 ตัว ให้กับคุณศิริวรรณที่กรมประมง โดยในวันที่ 6 มกราคม 2554 ได้เดินทางมาที่กรมประมง และได้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ท่านเดิม เรื่องการส่งมอบตัวอย่างลูกปลาดองทั้ง 2 ขวด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งลงมารับตัวอย่างแทน ที่ชั้น 1 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขอให้ตัวแทนบริษัทกรอกแบบฟอร์มใดๆ ทำให้เข้าใจว่าการส่งมอบสมบูรณ์แล้ว
ถัดมาอีก 7 ปี ในปี 2560 มีข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า มีการพบปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่สมุทรสงคราม กรมประมงจึงได้เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมประมงตรวจสอบไม่พบปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง จึงได้ขอสุ่มในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติแทน ซึ่งบ่อพักน้ำ R2 ของฟาร์มไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม
บ่อพักน้ำเป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติย่อมมีอยู่ในบ่อพักน้ำ เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำเดียวกัน และยังไม่เข้าสู่ระบบการเลี้ยง ดังนั้น การสุ่มในบ่อพักน้ำจึงไม่แปลกที่ปลาจะเป็นชนิดเดียวกันกับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ การนำมาเปรียบเทียบว่าเป็นปลาชนิดเดียวกันหรือไม่ จึงเป็นการตั้งสมมติฐานที่ทราบคำตอบตั้งแต่ต้นว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน เพราะมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเดียวกัน
นายเปรมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2554 ถึงแม้ว่าบริษัทมั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงได้นำศักยภาพองค์กรขับเคลื่อน 5 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย 1. ร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม 2. สนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ 200,000 ตัวตามแนวทางของกรมประมง 3. สนับสนุนกิจกรรมจับปลา โดยสนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา 4. ร่วมกับสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ 5. ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว
ขณะที่ ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย หรือ อนุกมธ.ศึกษาปัญหาปลาหมอคางดำ เปิดเผยว่า ในการประชุมวันนี้ ได้เชิญตัวแทนจากบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ CPF เพื่อมาชี้แจงต่อกรรมการถึงข้อโต้แย้งจากกรมประมงที่ให้เอกสารหลักฐานต่อกรรมาธิการกรรมาธิการ ซึ่งล่าสุดทางบริษัทเอกชนได้ส่งหนังสือแจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่ได้ส่งเอกสารแนบเป็นหนังสือข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลชุดเดียวกับกรมประมงโดยไม่ได้มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม
“เวทีที่ท่านสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจได้คือเวทีของสภาผู้แทนราษฎร แต่หากเลือกที่จะแถลงข่าวเพียงมีสำนักข่าวไม่กี่สำนัก ขาดการโต้แย้งสอบถามอาจจะสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับประชาชนมากขึ้น” นายณัฐชา กล่าว
นายณัฐชา กล่าวต่อว่า ตามอำนาจของกรรมาธิการ ทำได้เพียงขอความร่วมมือเท่านั้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ และเมื่อขอข้อมูลไปแล้วแต่ไม่ได้รับข้อมูล จึงต้องสรุปตามข้อมูลที่มีอยู่ โดยเป็นข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่เชื่อถือได้ จากกรมประมงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่จะมีการเสนอแก้ไขราชบัญญัติคำสั่งเรียก เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการเชิญบริษัทเอกชนเข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการ โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญสำนักงานกฤษฎีกา เข้ามาให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐในการฟ้องร้อง พร้อมกับเชิญหน่วยงานที่จะประเมินมูลค่าความเสียหายต่อระบบนิเวศที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือว่ามูลค่ามหาศาล เพราะปลาสายพันธุ์นี้ได้ทำลายชีวิตของประชาชนและเกษตรกรนับไม่ถ้วน
นายณัชชา กล่าวอีกว่า สิ่งที่กรมประมงได้ชี้แจง และให้ข้อมูลไว้ สามารถยืนยันได้ว่า เป็นการทำผิดเงื่อนไขของคณะกรรมการอนุญาตนำเข้าสายพันธุ์ปลา แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุต้นตอของการแพร่ระบาดได้เนื่องจาก มีดีเอ็นเอของปลาในปี 2565 ยังไม่ได้มีดีเอ็นเอ ต้นทางในปี 2554 ทำได้เพียงการสันนิษฐาน และมีเพียงบริษัทเดียวที่นำเข้าปลาสายพันธุ์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา หลังจากที่ประธานวิปฝ่ายค้านได้หารือกับวิปรัฐบาล และได้จัด สส.พรรคก้าวไกล 13 คนนำพยานหลักฐานมาอภิปรายชี้เห็นถึงปัญหา เนื่องจากว่าอนุกรรมการได้ทำเต็มความสามารถและอำนาจหน้าที่แล้ว
“เราจึงเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเพื่อเสนอไปยังรัฐบาลว่า การระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำรุกรานเกษตรกร สิ่งที่เกิดขึ้นมูลค่าความเสียหายยังประเมินไม่ได้ แต่เกษตรกรตายราย ท่านจะอยู่นิ่งเฉยแล้วรอกันแก้ไข หรือรอคนมีจิตสำนึกมาช่วยแก้ไขปัญหาไม่สามารถทำได้อีกต่อไป วันนี้อนุกรรมาธิการทำเป็นรูปธรรม ที่สุดแล้วสิ่งที่จะส่งต่อคือการยื่นญัตติด่วนส่งข้อเสนอแนะข้อมูลไปถึงรัฐบาลและดูว่านายกรัฐมนตรีจะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด” นายณัฐชา กล่าว
รองประธานอนุ กมธ.ฯ แก้ไขปัญหาฯ ปลาหมอคางดำฯ ยังกล่าวถึงการนำเข้าสายพันธุ์ปลาเก๋าหยก ของบริษัทเอกชนรายเดิม จึงมีความเป็นห่วง อาจจะมีการหลุดรอดมายังแหล่งน้ำธรรมชาติอีกหรือไม่ว่า ทางกรมประมงยืนยันว่าหากมีการหลุดรอดในแหล่งน้ำสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทันที เพราะการนำเข้ามีการเก็บดีเอ็นเอไว้แล้ว แต่ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดปลาหมอคางดำ จึงมีความพยายามไม่ให้สืบหาสาเหตุของการหลุดรอด ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดเมื่อปี 2555 แพร่ระบาดในตำบลเดียวกันอำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน เชื่อว่าเป็นประเด็นที่กรมประมงจะตั้งคณะกรรมการดำเนินการหาความจริงตั้งแต่ครั้งนั้น
และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมประมงได้ส่งรายงานให้อนุกรรมมาธิการ เกี่ยวกับการสำรวจในแล็บเอกชนของบริษัท CPF ในปี 2560 ในเดือนสิงหาคม ที่มีการสอบถามข้อเท็จจริงในการนำเข้า แต่ปรากฏเจ้าหน้าที่ในแล็บแจ้งว่ามีการยกเลิกโครงการแล้ว เนื่องจากปลาตายทั้งหมด แต่มีการสุ่มตรวจในบ่อพักน้ำโดยการหวานแห พบว่าเจอปลาหมอคางดำ 10 ตัว ขนาด 7 เซนติเมตร มีอายุ 1 ปีหรือ 1 ปีกว่า แล้ว โดยไม่ได้มีรายงานในการกำจัดปลา ซึ่งตั้งแต่ครั้งนั้นยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี คิดว่าหน่วยงานของรัฐควรดำเนินการอย่างจริงจังอย่างถึงที่สุด และกรมประมงในฐานะตัวแทนของประชาชนต้องเป็นคนกลางสู้คดีฟ้องร้องดำเนินคดี
“ทางกรมประมงจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อนุกรรมธิการได้ทำตามหน้าที่อย่างเต็มที่แล้วสุดความสามารถในการดำเนินการ วันนี้ไหนที่ประชุมจะเรียนต่อประธานกรรมาธิการเพื่อสรุปข้อมูล” นายณัฐชา กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี