“เดิม Motto (คำขวัญ) ของกรมราชทัณฑ์ จะพูดถึงว่า “คืนคนดีสู่สังคม” ปัจจุบันไม่พอ มันจะต้องเป็น “คืนคนดีมีความรู้สู่สังคม” เพราะสังคมมันมีพลวัตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการคืนคนดีแต่ไม่มีความรู้สู่สังคมอาจจะถูกหลอกลวงได้ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรืออะไร เก่งหาเงินมากเลย มีเป็นแสนเป็นล้าน แต่ความรู้อาจจะยังไม่ทันเขา อาจจะถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกหมดตัว ฉะนั้นคืนคนดีสู่สังคมต้องมีความรู้ด้วย”
พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวในงาน “Thailand Zero Dropout การศึกษาสร้างชีวิตใหม่ คืนพลเมืองคุณภาพสู่สังคม” จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกระทรวงยุติธรรม เมื่อช่วงปลายเดือนก.ค. 2567 ซึ่งพบว่า “จากจำนวนผู้ต้องขังราว 2.9 แสนคนร้อยละ 77 มีระดับการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ (ไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย)” และแม้ที่ผ่านมามีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะผู้กระทำผิดแต่ละคนเข้าสู่เรือนจำคนละช่วงเวลากัน จึงไม่สามารถจัดการศึกษาให้พร้อมกันได้
แต่หากมีความร่วมมือระหว่างกรมราชทัณฑ์ กับ กสศ. จะทำให้การจัดการศึกษามีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับผู้เรียนมากขึ้นเช่น ในอดีตมีการเรียนการสอนผ่านวีดีโอ และพัฒนามาเป็นการเรียนออนไลน์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ จัดเป็นสิ่งของต้องห้ามนำเข้าไปในเรือนจำ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 72 ถึงกระนั้น กฎหมายดังกล่าวก็ยังเปิดช่องไว้ในมาตรา 74ที่ระบุว่า เว้นแต่เพื่อใช้ในทางราชการ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายจากรัฐมนตรี
ทั้งนี้ มีตัวอย่างจากประเทศอังกฤษ อนุญาตให้นำคอมพิวเตอร์แบบแท็บเลตเข้าไปในเรือนจำได้ แต่ล็อกไว้ให้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น ซึ่งการห้ามนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในเรือนจำมีสาเหตุอยู่ แม้ด้านหนึ่งจะมีประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ แต่อีกด้านหนึ่งก็สามารถนำไปใช้ทำผิดกฎหมายได้แม้จะอยู่ระหว่างถูกคุมขัง เช่น ซื้อ-ขายยาเสพติด หรือสั่งฆ่าคนดังนั้นการนำเข้าไปก็ต้องหาทางล็อกไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิดด้วย
โดยกรมราชทัณฑ์ มีเรือนจำกลุ่มเป้าหมายในการทดลองจัดการศึกษาสำหรับผู้ต้องขังโดยร่วมกับ กสศ. แบ่งเป็น 1.ภาคเหนือเรือนจำกลางเชียงราย 2.ภาคกลาง เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา 4.ภาคใต้ เรือนจำกลางนราธิวาส และ 5.กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง โดยเลือกทดลองกับเรือนจำซึ่งไม่ใช่เรือนจำความมั่นคงสูงที่ผู้ต้องหามีอัตราโทษสูง
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังเล่าถึงการได้พูดคุยกับอดีตผู้ต้องขังที่ปัจจุบันพ้นโทษออกไปทำมาหากินสุจริตด้วยการวาดรูปขายและมีฝีมือดีมาก อดีตผู้ต้องขังรายนี้บอกว่าจบเพียงชั้นประถมศึกษา และมองว่าหากตนเองได้เรียนสูงๆ ก็น่าจะมีโอกาสในชีวิตมากกว่านี้ แต่ก็ยอมรับว่ามีความกลัวอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.กลัวคนอื่นดูถูก กับ 2.กลัวที่จะไม่ซื่อสัตย์กับตนเองแล้วเลือกกลับไปทำผิดซ้ำ ซึ่งความกลัวทั้ง 2 เรื่องจะหายไปหากมีการศึกษาเข้ามา การได้เรียนสูงขึ้นจะได้ทั้งเพิ่มพูนความรู้และทักษะการคิด ทำให้คนคนหนึ่งกลับสู่สภาวะความเป็นปกติได้
ขณะที่ สิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ถูกคุมประพฤติมีอยู่ประมาณกว่า 4 แสนคน แบ่งเป็นอย่างละครึ่งระหว่างกลุ่มที่พ้นจากกระบวนการคุมประพฤติไปแล้วแต่กรมคุมประพฤติยังต้องสงเคราะห์ต่อเนื่องไปอีก 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด กับกลุ่มที่ยังอยู่ในกระบวนการคุมประพฤติ “ร้อยละ 65 หรือเกือบ 2 ใน 3 ของผู้ที่ยังอยู่ในระหว่างถูกคุมประพฤติ มีระดับการศึกษาไม่ถึง ม.ปลาย หรือเทียบเท่า” แต่ผู้ถูกคุมประพฤตินั้นมีอยู่ทั่วประเทศ อยู่บ้านตนเองบ้าง ไปทำงานต่างพื้นที่บ้าง จึงแตกต่างจากผู้ต้องขังในเรือนจำหรือสถานพินิจ
จากปัจจัยข้างต้นจึงทำให้การส่งเสริมให้ผู้ถูกคุมประพฤติได้รับการศึกษาเป็นเรื่องยาก แต่ก็พยายามทำให้เกิดขึ้น แม้จะมีข้อจำกัดจากกรณีที่เคยร้องขอต่อศาล ขอเพิ่มเงื่อนไขการคุมประพฤติว่าต้องให้ผู้ถูกคุมประพฤติมาเข้ารับการศึกษา แต่ก็ไม่สามารถบังคับได้ ทางกรมคุมประพฤติก็จะมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในการเข้าไปสร้างความเข้าใจให้เห็นความสำคัญของการศึกษา ทั้งนี้ การให้วัตถุทรัพย์สินเงินทองกับคนคนหนึ่ง วันข้างหน้าอาจหมดไป แต่การให้การศึกษานั้นไม่มีใครสามารถขโมยความรู้ไปได้และสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต จึงเป็นการให้ที่ยั่งยืน
“มีพูดหนึ่งของท่านอดีตประธานาธิบดี (ประเทศแอฟริกาใต้) เนลสัน แมนเดลา ว่า “การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้” ดังนั้นทางกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ก็บอกอยู่แล้วว่า “ความเสมอภาค” ทุกคนได้รับการศึกษาที่เสมอภาคกัน ผมเชื่อว่าจะนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นได้ ดังนั้นในส่วนของกรมคุมประพฤติเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนและเดินตามแนวทางที่กำหนด เพื่อที่ให้ผู้ถูกคุมประพฤติที่อยู่ในความดูแลได้รับการศึกษาเสมอภาคกับบุคคลอื่นๆ ทั่วไป” รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าว
ด้าน สุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศชาติ โดยการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งปัจจุบันยกฐานะขึ้นเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) มีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับอำเภอหรือเขต, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งเริ่มต้นในปี 2563 นำร่องที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ที่น่าสนใจคือ “เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ สนใจการศึกษาในรูปแบบศูนย์การเรียนรู้มากที่สุด” เพราะไม่มีข้อจำกัด เช่น อายุของผู้เรียน เมื่อเทียบกับอีก 2 รูปแบบ คือ กศน. และการศึกษาในระบบของ สพฐ.
“เด็กให้ความสนใจในการลงทะเบียนค่อนข้างมาก 51 กว่าเปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 คือ กศน. เดิม ร้อยละ 44 กว่า แล้วก็ สพฐ. ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัด ถามว่าเราก็พยายาม กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เราก็มีข้อดีตรงที่เจ้าหน้าที่ของเรา บุคลากรของเราเป็นเหมือนสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักจัดการงานทั่วไป นักวิชาการฝึกอบรมและฝึกวิชาชีพ เจ้าพนักงานพินิจ เราก็ให้มีการที่จะเป็นครูนำร่องตรงส่วนนี้ ให้ไปเหมือนกับขึ้นทะเบียนกับ สกร. หรือแม้กระทั่งกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุ
รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานพินิจหรือศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน แม้จะมีข้อจำกัดที่เด็กและเยาวชนไม่ได้ออกมาข้างนอก แต่ก็เป็นโอกาสที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับเด็กและเยาวชนทั่วไป ทั้งนี้ กรมพินิจฯ มีการทำบันทึกความตกลงร่วมมือ (MOU) เพิ่มขึ้นกับหลายหน่วยงาน อีกทั้งยังต้องปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทด้านข้อจำกัดของเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้เรียน
ในช่วงท้าย ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาควิชาการด้านกฎหมาย กสศ. กล่าวว่า สิทธิด้านการศึกษาได้รับการรับรองทั้งในระดับชาติและระดับสากล แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันประเทศไทยกลับพบเด็กและเยาวชนกว่า 1 ล้านคนหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือข้อมูลข้างต้นจากกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติ ที่ชี้ว่าผู้ต้องขังและผู้ถูกคุมประพฤติส่วนใหญ่มีการศึกษาไม่ถึงระดับขั้นพื้นฐาน
ส่วนหนึ่งจึงถือเป็นความล้มเหลวของรัฐที่ไม่สามารถดูแลให้คนเหล่านี้อยู่ในระบบการศึกษาได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องให้ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในภาคบังคับ แต่กลับมีคนอีกหลายแสนหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการดึงคนเหล่านี้กลับเข้าระบบการศึกษา โดย กสศ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคให้กับคนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา หรือคนที่หลุดจากระบบการศึกษา
ขณะที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) จึงอยากเห็นกระทรวงยุติธรรม เป็นหนึ่งในหน่วยงานต้นแบบ ที่จะนำอย่างน้อยที่สุดประมาณ 4 แสนคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อจะทำให้ประเทศไทยยุติปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริง
“ในการที่จะทำให้การจัดการศึกษาเป็นไปได้สำหรับบุคคลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เราสามารถเดินตามมาตรการ 4 ข้อที่คณะรัฐมนตรีได้ให้แนวทางของ Thailand Zero Dropout ได้ ตั้งแต่อันแรกคือต้องค้นหาเสียก่อนว่าคนเหล่านี้คือใคร ซึ่งเราได้ตัวเลขมาอยู่แล้ว บุคคลเหล่านี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงยุติธรรม เพียงแต่เราต้องเอาข้อมูลเหล่านั้นมา Mapping (ทำแผนผัง) เชื่อมโยงให้ทราบว่ารายบุคคลคนใดที่มีความจำเป็น มีความต้องการการศึกษาในระดับที่ยังไม่ได้อ่านออกเขียนได้เลย ระดับประถมศึกษา มัธยมต้น มัธยมปลาย” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวต่อไปว่า การศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งคนที่ต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เป็นคนที่หลุดจากการศึกษาในระบบออกมาแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้สามารถสร้างคุณค่าทางการศึกษาได้ก่อนกลับออกมาสู่โลกภายนอก รวมถึงกลับสู่ระบบการศึกษาตามปกติได้ระบบการศึกษาจึงต้องยืดหยุ่น มีการพัฒนาตั้งแต่จิตใจและคุณภาพชีวิตให้พร้อม และตอบสนองความต้องการของแต่ละคนในแต่ละช่วงวัย
ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่สถานพินิจ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ มีองค์ความรู้สามารถเป็นครูและทำหน้าที่ตามความคาดหวังของกฎหมายได้ เพราะไม่ว่าเรือนจำ สถานพินิจหรือแม้แต่กระบวนการคุมประพฤติ ถูกกำหนดบทบาทตามกฎหมายไว้ประการหนึ่งคือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยให้กับผู้ก้าวพลาด
ทั้งนี้ งาน “Thailand Zero Dropout การศึกษาสร้างชีวิตใหม่ คืนพลเมืองคุณภาพสู่สังคม” จัดขึ้นในขณะที่คณะรัฐมนตรีชุดเดิมยังดำรงตำแหน่ง และคาดการณ์ว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะมีความคืบหน้า ซึ่งก็หวังว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ไม่ว่ารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมจะยังเป็นท่านเดิมหรือไม่) จะสานต่อสิ่งที่ กสศ. และภาคีเครือข่ายได้เริ่มต้นก้าวแรกไปแล้ว!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี