การเดินทางไปนมัสการพระเหลาเทพนิมิต ตำบลพระเหลา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยรถยนต์อย่างเดียว เริ่มต้นจากตัวเมืองอำนาจเจริญ ไปทางทิศใต้ ตามถนนสายหลักชยางกูร (อำนาจ-อุบลราชธานี) ถึง อ.ลืออำนาจ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายรอง (ลืออำนาจ-พนา) ประมาณ 42 กิโลเมตร เข้าเขตเทศบาลตำบลพนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ จะพบเห็นซุ้มประตูที่มีรูปปั้นช้าง 2 เชือกอยู่ 2 ข้าง และป้ายบอกชื่อ วัดพระเหลาเทพนิมิต ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ สังกัดมหานิกาย
สำหรับ วัดพระเหลาเทพนิมิต สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2263 ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ เดิมชื่อวัดศรีโพธิ์ชยารามคามวดี ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดพระเหลาเทพนิมิต ตามนาม พระประธานในอุโบสถ คือ พระเหลาเทพนิมิต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สูง 2.70 เมตร หน้าตักกว้าง 2.85 เมตร มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะลาว สกุลเวียงจันทน์
พระเหลาเทพนิมิต มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน จึงได้รับขนานนามว่า พระพุทธชินราชแห่งภาคอีสาน ชาวบ้านเรียกพระเหลา หมายถึงงดงาม ราวกับสลักเหลากับมือ ไม่เหมือนพระปูนทั่วไป เป็นที่มาของพระเหลา ซึ่งเค้าพระพักตร์ สัดส่วนของพระเพลาและพระบาท ซึ่งคล้ายคลึงกับพุทธศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปไม้และสำริด โดยเฉพาะรอบๆ อุโบสถที่ประดิษฐานพระเหลาเทพนิมิต จะพบเห็นใบเสมาหินผุดขึ้นจากพื้นดิน จำนวน 26 ใบ อายุราวพุทธศตวรรษที่12-13 อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเสมาหินในเขตวัดโพศิลา ต.เปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ
ส่วนหอแจก(ศาลาการเปรียญ) อยู่ห่างกับอุโบสถ ประมาณ 5 เมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนหมัก ซึ่งด้านหน้ามีป้ายบอกประวัติเรื่องราวการก่อตั้งหมู่บ้านพนาว่า เมื่อปี พ.ศ.2254 พระครูธิ เจ้าอาวาสวัดพระเหลา เป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านพนา พร้อมกับก่อสร้างสิม(อุโบสถ)และหอแจก(ศาลาการเปรียญ) ปี พ.ศ.2463 ส่วนสิม(อุโบสถ) และหอแจก(ศาลาการเปรียญ)ที่บันไดทางขึ้นทั้ง 2 ข้าง จะตกแต่งด้วยรูปปั้นของมกรคาบนาครูปแบบเดียวกันจนปัจจุบัน ทั้งสิมและหอแจกจะมีลักษณะเป็นไม้และมุงแป้นไม้ ฐานก่ออิฐถือปูนทั้ง 2 หลัง ฐานแอวขันปากพานโบกคว่ำโบกหงายหลังคาทรงปั้นหยาหน้าจั่วปีกนกมีมุก ภายในศาลาโล่ง เสาเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูนและมีบัวที่ฐานและหัวเสา ฝ้าเพดานและเครื่องหลังคาทำด้วยไม้เชิงชายตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายยอดและหางขึ้นลงตกแต่งด้วยไม้กลึง ซึ่ง กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน วัดพระเหลาเทพนิมิต ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 520 ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ปัจจุบัน หอแจก จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงเครื่องใช้โบราณ เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง อุปกรณ์การเกษตรและอื่นๆ ไว้ให้เด็กและเยาวชน คนทั่วไป เข้าไปศึกษาเรียนรู้ โดยเปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ทุกวัน
สำหรับ พระเหลาเทพนิมิต เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสาม ถือว่าเป็นงานประเพณีปิดทององค์พระเหลาเทพนิมิตของทุกปี ซึ่งจะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาจากทั่วสารทิศ หลั่งไหลเข้ามาทำบุญ บำเพ็ญกุศล โดยนำปราสาทผึ้งมาถวาย กลายเป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน
สนธยา ทิพย์อุตร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี