ปภ.เตือน 70 จว.ระวังท่วมฉับพลัน
ฝนถล่มทั่วไทย
พายุ‘ซูลิก’แผลงฤทธิ์แล้ว
นครพนมน้ำล้นท่วมนา
มุกดาหารจมหลายพื้นที่
สตูลยังท่วมหนัก2อำเภอ
กรมอุตุฯเตือนพายุ “ซูลิก” ส่งผลทั่วไทยฝนตกหนัก ปภ.แจ้ง 70 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน กรมทรัพยากรธรณี เตือน 33 จังหวัด เสี่ยงน้ำป่า-ดินถล่ม นครพนมฝนตกหนัก เร่งระบายน้ำพบนาจมนับแสนไร่ มุกดาหารน้ำท่วมหลายพื้นที่-ถนนหลายสาย หนองคายจับตาน้ำโขงเพิ่มสูง สตูลยังหนักน้ำท่วม 2 อำเภอ ทัพเรือ รุดช่วยชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง พายุ “ซูลิก” ฉบับที่ 13 มีใจความว่าพายุดีเปรสชัน “ซูลิก” ได้เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่บริเวณ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง
พายุ‘ซลิก’ส่งผลทั่วไทยมีฝนหนัก
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21-23 กันยายน 2567
ทะเลอันดามัน-อ่าวไทยคลื่นแรง
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าว
อีสานฝนตกร้อยละ80ของพื้นที่
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิษถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรง บริเวณ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรง บริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ฝนทั้งสองฝั่งร้อยละ70-80
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรง บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและห่างฝั่งคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรง บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วน กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
กรมทรัพยากรธรณีเตือนดินถล่ม
ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศ ฉบับที่ 18/2567 ลงวันที่ 20 กันยายน 2567 เรื่อง ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณี เฝ้าระวังภัยแผ่นดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ในระยะ 2-3 วัน ระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ จ.เลย หนองคาย หนองบัวลําภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี แพร่ น่าน พะเยา อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ เชียงราย ลําพูน ลําปาง ตาก แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เฝ้าระวังภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2567 เนื่องจากอิทธิพลของดีเปรสชันบริเวณประเทศลาว ทำให้มี ฝนตกหนักต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมง ได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร ประกอบกับเริ่มมีน้ำหลากในบางพื้นที่แล้ว อาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่มได้
จัดอาสาฯแจ้งเตือน-ช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์แผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือ ตามแผนการเฝ้าระวังที่ได้มีการอบรมไว้แล้ว
ปภ.ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน
ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง จึงแจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 21–25 กันยายน ดังนี้ พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง 22 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ รวมถึง กทม.และภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ภาคใต้มีคลื่นลมแรงใน6จังหวัด
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ประสาน70จว.เฝ้าระวัง-เตือนภัย
ทั้งนี้ กอปภ.ก.ได้ประสานแจ้ง 70 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม.รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัย โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีฝนตกหนักและพื้นที่ฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง
‘ซูลิก’ทำฝนกระหน่ำนครพนม
ที่ จ.นครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพายุซูลิก เคลื่อนจากประเทศลาว เข้าสู่พื้นที่ จ.นครพนม ส่งผลให้มีฝนตกหนักตลอดคืนที่ผ่านมา โดยเทศบาลเมืองนครพนม เตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ มีการเดินเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ รวม 7 จุด เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง แต่เนื่องจากช่วงนี้ระดับน้ำโขง ยังสูง แม้จะลดลงบ้างแล้ว โดยระดับน้ำอยู่ที่ 11.70 เมตร ห่างจากจุดเฝ้าระวังล้นตลิ่ง 30 เซนติเมตร ทำให้มวลน้ำในพื้นที่ รวมถึงลำน้ำสาขา ไหลระบายลงน้ำโขง ได้ช้า หากมีฝนตกต่อเนื่อง จะต้องเดินเครื่องสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันน้ำเอ่อท่วมตัวเมือง ย่านชุมชน และย่านเศรษฐกิจ
ยันเมืองนครพนมรับมือน้ำโขงได้
ส่วนปัญหาน้ำโขงเอ่อล้นทะลักท่วมตัวเมืองนครพนม รวมถึงอำเภอชายแดน ทั้ง อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม ยังเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเขื่อนป้องกันตลิ่งสามารถรองรับระดับน้ำโขงได้ถึง 15 เมตร มีเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงพื้นที่การเกษตรติดแม่น้ำ ที่จะได้รับผลกระทบ หากมีฝนตกอีกหลายวัน สำหรับพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ อ.ศรีสงคราม เนื่องจากเป็นจุดรวมน้ำสาขาสายหลัก ทั้งลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ที่ไหลมาบรรจบกัน ก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง ที่ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน ทั้งนี้ ปริมาณน้ำได้เอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวกว่า 50,000 ไร่ โดยหน่วยงานเกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างสำรวจและให้การช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงสัตว์เลี้ยง ทั้งโคและกระบือ เริ่มได้รับผลกระทบ ไม่มีหญ้า แหล่งอาหาร
พบมีน้ำท่วมขังที่อ.ศรีสงคราม
นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนชาวบ้านบางส่วน ถูกน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะพื้นที่เป็นลักษณะแอ่งกระทะ ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ถือเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเกือบทุกปี ชาวบ้านจึงปลูกสร้างบ้านเป็นแบบยกสูง เมื่อน้ำมาก็อาศัยอยู่ชั้นบน โดยมีภาครัฐให้การดูแลช่วยเหลือ จนกว่าระดับน้ำจะลดลง โดยบางปีน้ำท่วมขังนานกว่า 2 เดือน
ปักธงเหลืองแจ้งให้เฝ้าระวัง
ขณะเดียวกัน ทางเทศบาลเมืองนครพนม ได้ปักธงเหลืองแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง ยังไม่ถึงระดับธงแดง ในขั้นวิกฤติ พร้อมยืนยันว่าน้ำโขง จะไม่ล้นทะลักเข้าท่วมตัวเมือง เนื่องจากยังสามารถรับรองน้ำได้อีกมาก
เพียงต้องเฝ้าระวัง และจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเสริมการระบายน้ำ หากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดปัญหาน้ำในตัวเมืองระบายลงสู่น้ำโขงไม่ทัน คาดว่าอีก 2 -3 วัน หากไม่มีน้ำจากทางภาคเหนือไหลมาสมทบก็จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ระดับน้ำโขงจะลดต่อเนื่อง มีเพียงพื้นที่อำเภอรอบนอก ที่อยู่ติดลำน้ำสาขาสายหลัก ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเอ่อล้น ทำให้ไหลระบายลงน้ำโขงช้า
นครพนมนาข้าวจมน้ำแสนไร่
สำหรับภาพรวมพื้นที่การเกษตรของ จ.นครพนม มีนาข้าวได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นแล้วเกือบ 1 แสนไร่ มีบางส่วนที่จมอยู่ใต้บาดาล แต่ถ้าน้ำลดก็อาจฟื้นตัวกลับมาให้ผลผลิตได้ หากระดับน้ำยังท่วมนานเป็นสัปดาห์ ก็มีโอกาสสูงที่จะเสียหายทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรที่เลี้ยงโค กระบือ เริ่มเดือดร้อนจากปัญหาขาดหญ้าอาหารสัตว์ หลังจากต้อนไปเลี้ยงในที่สูง ต้องรอภาครัฐมาสนับสนุนช่วยเหลือ
มุกดาหารน้ำท่วมถนนหลายสาย
ส่วนที่ จ.มุกดาหาร ภายหลังเกิดฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร มีน้ำท่วมขังหลายแห่ง อาทิ ชุมชนตาดแคน ซอย 3 ถนนยุทธพัฒน์ ถนนชาภูบาล ชุมชนหลังศูนย์ราชการฯ ทำให้รถยนต์และจักรยานยนต์ สัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก
นายอดุลย์ ศิริมันต์ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองมุกดาหาร นำกำลังเจ้าหน้าที่ ออกให้การช่วยเหลือประชาชน พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเร่งสูบน้ำออกจากจุดที่น้ำท่วมขัง รวมทั้งกรอกกระสอบทราย เพื่อทำแนวป้องกันน้ำเข้าท่วมบ้านเรือน เก็บเศษขยะที่อุดตันขวางทางน้ำ ขณะที่ระดับแม่น้ำโขง พบว่าลดลง อยู่ที่ 11.23 เมตร อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ จึงแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขง ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
หนองคายจับตาน้ำโขงเพิ่มสูงอีก
ที่ จ.หนองคาย ระดับน้ำโขง วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย วัดได้ 10.93 เมตร ต่ำกว่าระดับวิกฤติ 1.27 เมตร ปริมาณน้ำฝน 9.4 มิลลิเมตร โดยมีฝนตกทั่วทั้งจังหวัด ตั้งแต่ช่วงกลางดึกที่ผ่านมาถึงช่วงเช้า ซึ่งชาวบ้านยังคงแนวกระสอบทรายกั้นน้ำไว้ตามเดิม รวมถึงเครื่องสูบน้ำ ที่ประจำจุดต่างๆ ก็ยังเตรียมการไว้ใช้งาน เพื่อรับมือพายุซูลิก ที่จะทำให้มีฝนตกหนัก ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จนอาจจะเกิดน้ำท่วมอีกครั้ง
เทศบาลฯยบิ๊กคลีนนิ่ง-ฟื้นฟู
ขณะที่บริเวณถนนริมโขง และถนนประจักษ์ศิลปาคม ใจกลางเมือง ย่านเศรษฐกิจ ระดับน้ำลดลงจนแห้งแล้ว เหลือไว้แต่เศษดินโคลนตามพื้นถนนและฟุตปาธ ประชาชนตามสองฝั่งถนนได้พากันทำความสะอาดบ้านเรือน และถนนที่ใช้สัญจร โดยเทศบาลเมืองหนองคาย ด้ทำการบิ๊กคลีนนิ่ง นำรถดับเพลิงฉีดน้ำล้างดินโคลนออกจากพื้นผิวจราจร ตามร่องน้ำต่างๆ เก็บกวาดเศษขยะ ก่อนจะฟื้นฟูทั้งบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ ร้านค้า สถานที่ราชการต่างๆ ให้กลับสู่ภาวะปกติ
เชียงรายร่งฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด
ขณะเดียวกัน นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ได้ให้เจ้าหน้าที่กองช่างเทศบาลนครเชียงราย และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเมือง หลังจากน้ำกกล้นตลิ่งท่วมเขตเทศบาลนครเชียงราย โดยพบว่าภายหลังน้ำลด ตามท่อระบายน้ำมีดินโคลนอุดตันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งไหลมากับกระแสน้ำ จนทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ รวมทั้งดินโคลนที่ติดค้างอยู่ตามชุมชนต่างๆ ด้วย
ใช้รถดูดโคลนอุดตันท่อระบายน้ำ
ทั้งนี้ นายวันชัย ได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีรถดูดดินโคลน เพื่อสนับสนุนการดูดโคลนในเขตเทศบาลนครเชียงราย โดยมีรถดูดดินโคลนแรงดันสูงจาก จ.เชียงใหม่ และนนทบุรี เดินทางมาช่วยดูดดินโคลนในท่อระบายน้ำตามถนนสายต่างๆ ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งสามารถดูดโคลนได้มากถึง 4 ตันต่อการดูด 1 ครั้ง ก่อนจะนำไปทิ้งยังบ่อขยะของเทศบาลนครเชียงราย
เสียหาย52ชุมชนกว่าหมื่นหลัง
สำหรับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา มีน้ำท่วม 52 ชุมชน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 11,000 หลังคาเรือน สถานที่ราชการ ประกอบด้วย โรงเรียน 3 แห่ง คอสะพานเสียหาย 1 แห่ง และสวนสาธารณะ 6 แห่ง โดยมูลค่าความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ โดยเฉพาะทรัพย์สินของประชาชนที่ถูกน้ำท่วม รถยนต์ จักรยานยนต์ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก
พะเยาต้นไม้หักโค่นขวางถนน
วันเดียวกัน ที่ จ.พะเยา ได้เกิดฝนตกและลมแรง นับตั้งแต่ช่วงเช้า ในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ โดยพายุฝนได้ทำให้ต้นไม้ใหญ่หักโค่น ขวางถนนพะเยา-เชียงคำ บริเวณหน้าป่าสุสานบ้านห้วยต้นตุ้ม หมู่ 13 ต.ห้วยลาน อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ทำให้การจราจรติดขัด ยานพาหนะไม่สามารถผ่านได้ ซึ่งแขวงทางหลวงชนบทฯ ได้เร่งตัดไม้ที่ล้มขวางถนน เคลียร์เส้นทางเพื่อเปิดพื้นที่การจราจร ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ริมน้ำ
ภูเก็ตฝนถล่ม-น้ำทะเลหนุนสูง
ส่วนที่ จ.ภูเก็ต นายศุภโชค ละอองเพชร นายสุทธิพันธ์ สกุลเทพ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต พร้อมคณะ และส่วนราชการในพื้นที่ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขังรอระบาย บริเวณสี่แยกท่าแครง ต.ตลาดเหนือ ภายหลังมีฝนตกต่อเนื่องเมื่อช่วงค่ำวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา และมีน้ำทะเลหนุนสูง โดยมี เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงพื้นที่เก็บขยะที่ลอยมากับกระแสน้ำ และอุดตันท่อระบายน้ำซึ่งทำให้น้ำระบายได้ช้ากว่าปกติ ขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักช่าง เทศบาลนครภูเก็ต ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในคลองท่าแครง ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนน้ำในคลองบางใหญ่ ยังอยู่ในระดับปกติ
2อำเภอที่สตูลยังได้รับผลกระทบ
ที่ จ.สตูล ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่าที่ อ.เมือง และ อ.ละงู ยังคงมีน้ำท่วมสูง ระดับน้ำเกือบถึงหน้าอก โดยเฉพาะที่บ้านถ้ำเข้ หมู่ 10 ต.กำแพง อ.ละงู โดยทาง ร.ท.สุโภชน์ ทองย้อย รองผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 452 หัวหน้าชุดบรรเทาสาธารณภัย สังกัดทัพเรือภาคที่3 นำกำลังพล ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ ต.กำแพง อ.ละงู ซึ่งมีลำคลองไหลออกสู่ทะเล มวลน้ำได้เข้าท่วม แต่กำลงพลได้ฝ่ากระแสน้ำ เข้าไปดูแลชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน มีทั้งแพทย์ทหารเรือ ไปตรวจรักษาผู้ป่วย ในพื้นที่บ้านถ้ำเข้ หมู่ 10 ต.กำแพง อ.ละงู
ชาวประมงรอภาครัฐช่วยเหลือ
ในส่วนความเดือดร้อนบนเกาะกลางทะเลใน จ.สตูล ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากคลื่นลมแรง เรือประมงไม่สามารถเข้าฝั่ง หรือออกเรือไปทำประมง ได้ เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้ว โดยชาวบ้านบนเกาะสาหร่าย อ.เมือง รวมทั้งเกาะบุโหลนดอน และเกาะบุโหลนเล ต.ปากน้ำ อ.ละงู ยังคงรอความหวังจากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ โดยมีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่าพันครัวเรือน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี