วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงเรียน วัดสมหวัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) สุราษฎร์ธานี เขต 1 และ โรงเรียนสุราษฎร์ธานีพิทยา 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)สุราษฎร์ธานี-ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี ว่า โรงเรียนวัดสมหวัง เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอ มีการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพตามหลักพระพุทธศาสนา คือ กิน ดู อยู่ ฟัง ทั้งนี้ จากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนและตรวจดูห้องสุขาของโรงเรียน ตามโครงการสุขาดีมีความสุขแล้ว ตนได้เน้นย้ำกับ ผอ.สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1 และ ผอ.โรงเรียน ว่าให้ปรับปรุงและพัฒนาห้องสุขาให้สะอาด ปลอดภัย มีกลิ่นหอม ถูกสุขลักษณะ และให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ห้องน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะ และเพื่อฝึกนิสัยความรับผิดชอบ และให้จัดแบ่งนักเรียนดูแลห้องน้ำผนวกกับโครงการคุณธรรมของโรงเรียนด้วย
เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อว่า ส่วนโรงเรียนที่สอง โรงเรียนสุราษฎร์ธานีพิทยา 2 เป็นโรงเรียน 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ และเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรม โดยในการตรวจเยี่ยม เด็ก ๆ ได้นำเสนอเรื่องสุขาดีมีความสุข ซึ่งฟังแล้วรู้สึกชื่นใจ เพราะนักเรียนบอกว่านักเรียนได้ใช้ห้องน้ำที่สะอาดถูกสุขลักษณะ ทำให้มีความสุขและอยากมาโรงเรียน ที่สำคัญยังได้ฝึกเรื่องความรับผิดชอบ จะได้เป็นนิสัยติดตัวเวลาไปใช้ห้องน้ำที่อื่น ก็มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม นอกจากนี้โรงเรียนสุราษฎร์ธานีพิทยา2 ยังมีจุดเด่นเรื่องของการเรียนแบบสะเต็มศึกษา โดยเด็กนำปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนมาศึกษาเรียนรู้ และออกแบบการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี แล้วนำไปใช้ในสถานที่จริง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีมาจัดการเรียนการสอนถือเป็นจุดเด่นของโรงเรียน ทำให้โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆมาอย่างต่อเนื่อง
“ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นจุดเน้นที่ทำให้นักเรียนอยากมาโรงเรียน และทำให้โรงเรียนมีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการตอบโจทย์ ”เรียนดี มีความสุข“ ซึ่งผมได้ขอให้ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทั้ง ผอ. สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1 ผอ. สพม.สุราษฎร์ธานี-ชุมพร และผอ.โรงเรียนทั้ง 2 แห่ง ดำเนินการเพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามาโรงเรียนแล้วน่าอยู่ โรงเรียนเป็นที่แห่งความปลอดภัย เป็นที่แห่งความสุข ซึ่งจะนำไปสู่ เป้าหมายตามนโยบายเรียนดี มีความสุข” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว และว่า ขณะนี้ โรงเรียนสังกัด สพฐ.ได้ปรับปรุงห้องสุขาทุกแห่งแล้ว ตามบริบทของโรงเรียน
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อ ส่วนเรื่องเด็ก Dropout ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นั้น เท่าที่ได้รับรายงานจาก ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พบว่า มีเด็ก Dropout กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 30 -40 คน จากเด็กทั้งหมด 60,000 กว่าคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องของการอพยพย้ายถิ่น เท่าที่ดูคาดว่าน่าจะมีมากที่เกาะสมุย เพราะเป็นพื้นที่ธุรกิจ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่พาลูกมาด้วย เมื่อถึงฤดูทำนาก็จะกลับไปทำนา เด็กก็ต้องติดตามผู้ปกครองไปด้วย จึงทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ดังนั้น จึงมอบหมายให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯไปคิดระบบดูแลนักเรียน เรื่องระบบการส่งต่อนักเรียน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะห้ามไม่ให้เด็กย้ายตามผู้ปกครอง แต่เมื่อเด็กต้องย้ายที่อยู่เด็กต้องสามารถไปเรียนต่อในพื้นที่ใหม่ได้ เด็กจะต้องไม่ตกหล่นจากระบบการศึกษา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี