"ราชทัณฑ์"แจง 3 ข้อ เหตุผู้เสียหายอดีตผู้ต้องขังชายเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเข้าร้องชมรมสันติประชาธรรม ขอความเป็นธรรมถูกแก๊งนาย ท.หลอกลวงเรียกรับเงิน 100 ล้าน
จากกรณีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม นำผู้เสียหายที่เคยเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้ายื่นหนังสือ เพื่อขอให้ตรวจสอบเครือข่ายการทุจริตหลอกลวงเงินผู้เสียหายในเรือนจำ โดยอ้างมีกลุ่มมิจฉาชีพ ตัวย่อ ท. หลอกลวงขณะอยู่เรือนจำ มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท นั้น
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า กระทรวงยุติธรรม ได้รับเรื่องร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจาก นายปัญญา กับกลุ่มผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีเจ้าหน้าที่รายใดมีส่วนให้การช่วยเหลือ และรู้เห็นเกี่ยวกับการที่ผู้ต้องขังรายนี้กระทำการหลอกลวงฉ้อโกงหรือไม่ กรณีนายปัญญา กับกลุ่มผู้เสียหาย ถูกนาย ท. อดีตผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กับพวกได้กระทำการหลอกลวง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ถึงเดือนกันยายน 2563 โดยนาย ท. ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ต้องขังอื่นหลงเชื่อว่าสามารถช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 กรณีนาย ท. หลอกผู้ร้องว่าสามารถช่วยให้ออกจากเรือนจำฯ ได้นั้น ขอเรียนว่า นาย ท. จะให้บิดาของนาย ท. มาเยี่ยมผู้ร้อง และหลอกว่าสามารถช่วยให้ออกจากเรือนจำฯ ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่ผู้ร้องไม่หลงเชื่อจึงได้ปฏิเสธไป
ประเด็นที่ 2 กรณีนาย ท. แจ้งผู้ร้องให้มอบอำนาจให้บิดานาย ท. แจ้งความร้องทุกข์กับบุคคลที่ปลอมลายมือชื่อผู้ร้องในการขายบ้านจัดสรรของผู้ร้องโดยไม่ได้รับอนุญาต และหลอกลวงให้ทำหนังสือมอบอำนาจในการขายที่ดินแก่บิดานาย ท. แต่เมื่อขายได้แล้ว กลับไม่นำเงินให้ผู้ร้องนั้น ขอเรียนว่าเป็นการตกลงธุรกรรมส่วนตัวของผู้ร้องกับนาย ท. ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ร้องและนาย ท. เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำฯ แต่ไม่มีการร้องเรียนในห้วงเวลานั้น ทำให้เรือนจำฯ และกรมราชทัณฑ์ ไม่ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
ประเด็นที่ 3 กรณีนาย ท. หลอกญาติของผู้ต้องขังรายหนึ่งว่า สามารถช่วยเรื่องการประกันตัวและการต่อสู้คดีได้นั้น ขอเรียนว่า ผู้ร้องแจ้งว่ามีผู้เสียหายรายอื่นถูกนาย ท. และบิดานาย ท. หลอกว่าสามารถช่วยเรื่องการประกันตัวและการต่อสู้คดี ทั้งนี้ การประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของกรมราชทัณฑ์แต่อย่างใด และผู้เสียหายเองก็ไม่ได้ดำเนินการร้องเรียนในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำฯ
อนึ่ง กรมราชทัณฑ์มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระเบียบวินัยของผู้ต้องขังอย่างชัดเจน และมีช่องทางในการร้องเรียนร้องทุกข์ให้กับผู้ต้องขังที่ถูกกระทำโดยมิชอบ ไม่เป็นธรรมทั้งจากผู้ต้องขังด้วยกันและเจ้าหน้าที่ แต่ปรากฏว่าในช่วงเกิดเหตุดังกล่าว ผู้ร้องมิได้ดำเนินการใดๆ ให้เรือนจำและกรมราชทัณฑ์ทราบ จึงไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันตัวผู้ร้อง และนาย ท. ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 3 ตุลาคม 2563 ตามลำดับ แม้ว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะรายงานว่า ไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงดังกล่าว แต่กรมราชทัณฑ์ยังคงเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อให้ความจริงปรากฏ หากพบว่าเจ้าหน้าที่รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อไป
กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า เรือนจำฯ มีกฎหมาย ระเบียบ และขั้นตอนการปฏิบัติกับผู้ต้องขังอย่างเคร่งครัดในทุกด้าน และหากผู้ต้องขังต้องการร้องทุกข์หรือร้องเรียนก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใดๆ ต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ ผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้กฎหมายที่กำหนดได้ ซึ่งตลอดมากรมราชทัณฑ์ยังคงยึดหลักตามมาตรการภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี