กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ พร้อม สส.เพื่อไทยขนคณะชุดใหญ่ลงพื้นที่ติดตามปัญหาโครงการ" 7 ชั่วโคตร"ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบส่อทุจริตเอื้อผู้รับเหมา จี้กรมโยธาฯ ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทิ้งงาน
กรณีปัญหาก่อสร้างโครงการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง ครอบคลุม อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ทยอยจัดสรรให้จำนวน 8 โครงการ ตั้งแต่ช่วงปี 2561 แต่ถูกชาวบ้านเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ร้องเรียนในช่วงปี 2562 เพราะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเฉพาะในเขตเทศบาลเป็นโครงการป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วม งบประมาณ 148 ล้านบาท ถูกผู้รับจ้างทิ้งงาน สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน จนชาวบ้านได้ประณามว่า “โครงการ 7 ชั่วโคตร” จนถึงปัจจุบัน
ปัญหานี้ยังรุกลามเป็นข่าวฉาวโฉ่ให้กับ กรมโยธาฯ เพราะปัญหาการทิ้งงานไม่ได้เกิดเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ แต่ยังมีอีก 7 โครงการ รวมทั้งสิ้น 8 โครงการ งบประมาณกว่า 545 ล้านบาท ถูกทิ้งงานแบบขาดความรับผิดชอบ ทั้งจากผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องระดับจังหวัดเกียร์ว่างปล่อยปัญหาให้คาราคาซังยาวนาน ซ้ำร้ายผู้ทิ้งงานกลับได้รับการคุ้มครองไม่ต้องจ่ายเงินค่าปรับงาน และปัญหาการค้างค่าแรงงานในพื้นที่ก็ไม่ได้รับการเยี่ยวยาแก้ไข กลายเป็นประเด็นคำถามปัญหาที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านได้ออกมาเรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้ามาติดตามแก้ไขปัญหานี้ให้ชาวกาฬสินธุ์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 นายฉลาด ขามช่วง ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฏร ได้นำคณะ กมธ.ปปช. พร้อมด้วยนายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 6 พรรคเพื่อไทย นายทินพล ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 พรรคเพื่อไทย นายพลากร พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 2 พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากผู้นำท้องถิ่น นายก.อบต.และนายกเทศมนตรี รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างจำนวน 3 โครงการในโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำลำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ เขตเทศบาลเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผวจ.กาฬสินธุ์ ผู้แทนจากกรมทางหลวง ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง โยธาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ ผอ.สนง.ป.ป.ช.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ผอ.สนง.ป.ป.ท.เขต 4 เข้าร่วมติดตามปัญหา
โดยการสำรวจพื้นที่ทั้ง 3 จุด เป็นการสุ่มตรวจในจำนวน 8 โครงการ ที่ชี้ชัดว่า โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ,โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำลำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ เขตเทศบาลเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ พฤติกรรมการทิ้งงานไม่ต่างกันทั้ง 8 โครงการทั้ง 3 โครงการยังพบสภาพความเสียหายในจุดก่อสร้างที่ถูกทิ้งเอาไว้เป็นเศษซากปรักหักพัง กลายเป็นสุสานเสาเข็ม ตลิ่งแม่น้ำทรุดเป็นแนวยาวที่ทำให้ชาวบ้านขาดขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตเพราะต้องหวาดผวากับแม่น้ำชีที่เซาะกร่อนตลิ่ง นอกจากนี้ยังพบปัญหาในเขตเทศบาลเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ สภาพความเสียหายทิ้งเอาไว้เห็นภาพชัดที่ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดกาฬสินธุ์พังพินาศลงทุกวัน
จากนั้นเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ คณะ กมธ.ปปช.สภาฯ ได้เข้าประชุมรับฟังปัญหาจากประชาชน ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น จาก 3 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ 7 ชั่วโคตร ที่การสะท้อนปัญหาไม่ต่างกัน ปัญหาการทิ้งงานทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ รัฐเสียประโยชน์ คนพื้นที่เสียโอกาส โดยเฉพาะพื้นที่ติดแม่น้ำ โชคดีที่ในปีนี้น้ำไม่มากจึงไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม กับปัญหาคาใจว่าทำไมปัญหานี้ถึงแก้ไขล่าช้า ไม่เหมือนกับโครงการอื่นๆ ที่หากมีการทิ้งงาน ผู้ว่าจ้าง(ภาครัฐ) ก็จะดำเนินการตามระเบียบพัสดุทันที แต่มาในกรณีนี้เหมือนมีความพยายามในการเอื้อประโยชน์ให้กับ”หจก.ขาใหญ่“ จึงเรียกร้องให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ชัดเจนในการแก้ปัญหา ควรเร่งจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาดำเนินการ พร้อมกับดำเนินการทางพัสดุอย่างเคร่งครัด เช่น การริบเงินประกันสัญญา 5%การเรียกเงินแอดวานซ์ 15% คืน พร้อมทำการไล่เบี้ยเงินคืนพร้อมค่าปรับจากปัญหาการทิ้งงานก่อสร้าง รวมไปถึงการตรวจสอบค่าความเสื่อมของวัสดุ อุปกรณ์ที่ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบ กับการที่กรมบัญชีกลางต้องประกาศให้ 2 บริษัทเอกชนเป็นผู้ทิ้งงาน หมดสิทธิ์ในการประมูลงานจากรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรมฯเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างเนื่องจากพฤติกรรมการทิ้งงานเหมือนมีความตั้งใจจะทิ้งจึงต้องการให้ มีการตรวจสอบย้อนหลังการทำงานของ 2 หจก.นี้ไป 10 ปี
ดร.ฉลาด ขามช่วง ป.กมธ.ปปช.สภาฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการทำงานแบบคู่ขนาดตามอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ปปช.ฯ เพื่อให้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนมาเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด ปัญหาก่อสร้างที่ จ.กาฬสินธุ์ 545 ล้านบาท หรือชาวบ้านประณามว่า ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร 8 โครงการนั้น ได้เข้าสู่กระบวนการแล้ว กรมโยธาฯยืนยันว่าอยู่ในช่วงการจัดหาผู้รับเหมา แต่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ได้ผู้รับเหมาแล้ว ส่วนการเอาผิดนั้น หน้าที่ของกรมโยธาฯก็คือการริบเงินและเรียกเงินแอดวานซ์คืนทั้งหมดพร้อมกับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากการยกเว้นระเบียบจนกลายมาเป็นผู้รับจ้างทิ้งงาน ในส่วน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับที่จะเข้ามาตรวจสอบ พร้อมกับ ป.ป.ท. และ สตง.
“เราจะติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะกรณีนี้เป็นความเสียหายต่อภาษีของพี่น้องประชาชน การทิ้งงานทำให้ประชาชนขาดโอกาส จนเป็นข้อสงสัยว่ามีเจตนาฉ้อฉลต่องบประมาณแผ่นดินหรือไม่ ที่การตรวจสอบจะต้องทำให้กระจ่างชัด ส่วนกรณีผู้บริหารจังหวัดก็ได้กำชับให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชน จะอ้างว่าเป็นงบประมาณส่วนกลางก็ไม่น่าจะฟังขึ้น ส่วนจะมีอะไรหรือไม่อย่างไร กมธ.ปปช.ฯ พร้อมที่จะรับฟังปัญหานี้จากประชาชนยืนยันว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้”
รายงานแจ้งว่า กมธ.ปปช. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาความล่าช้าในการเข้ามาตรวจสอบของส่วนราชการภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ ผวจ.กาฬสินธุ์ อ้างว่า งบประมาณนี้เป็นเรื่องของส่วนกลางจัดสรรมาให้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ถึงแม้จะเป็นงบประมาณที่มาจากส่วนกลาง แต่หากเกิดผลกระทบต่อประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ มีหน้าที่ในการเข้าช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาในทุกกรณี ป.กมธ.ปปช.ฯ จึงได้ขอความร่วมมือให้ ผวจ.กาฬสินธุ์ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านและกลุ่มแรงงานที่ถูกค้างค่าแรงด้วย
กับอีกหนึ่งข้อสังเกตุนั้น การทำงานยังพบว่า ผู้รับจ้างโครงการทั้ง 8 โครงการเหมือนกับขาดความกระตือรือร้นในการก่อสร้าง แม้ว่าจะอ้างว่าขาดสภาพคล่อง หรือติดปัญหาช่วงโควิค 19 ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นในการทิ้งงาน เพราะในทางกลับกัน 2 หจก.นี้ มีความมั่นคงทางการเงิน ในทุกโครงการ หลังจากที่ได้นำเงินประกันสัญญาไปวาง 5% กรมโยธาฯ ก็จะจ่ายแอดวานซ์ 15% ต่อจากนั้นก็จะเป็นกลุ่มแรงงานในพื้นที่เข้ามาช่วยทำงาน แต่เมื่อครบค่างวดก็ไม่ยอมจ่ายค่าแรงให้กับกลุ่มแรงงาน จึงเป็นเหตุให้ไม่มีใครเข้ามาช่วยทำงาน ด้าน กมธ.ปปช.ฯ จึงได้เรียกข้อมูลสัญญาการจ้างงาน รายการตรวจงานประจำวัน รวมถึงการพิจารณาจ่ายเงิน และได้กำชับให้ ปปช.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เร่งตรวจสอบพร้อมสรุปประเด็นปัญหานี้ที่เชื่อว่าหากมีพฤติกรรมฉ้อฉลก็ต้องดำเนินการตามกฏหมายทั้งหมดต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี