9 ธ.ค. 2567 ที่กระทรวงแรงงาน มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น การเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง โดย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดงาน ระบุว่า นับเป็นระยะเวลา 34 ปีแล้ว สำหรับกองทุนประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เริ่มกำหนดให้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาตั้งแต่ปี 2534 โดย ณ เวลานั้น เงินเดือนของคนจบปริญญาตรีอยู่ที่ราว 4,000-6,000 บาท ส่วนข้าราชการอยู่ที่ 4,000-4,500 บาท และค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่วันละ 75-80 บาท การกำหนดเพดานสูตรคำนวณการจ่ายเงินสมทบโดยอิงฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนไว้ที่ไม่เกิน 15,000 บาท จึงเหมาะสมกับค่าจ้างและค่าครองชีพในช่วงดังกล่าว แต่การกำหนดเพดานนี้ก็ไม่เคยถูกปรับปรุงแก้ไขมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
“สำนักงานประกันสังคมตระหนักถึงความเพียงพอและความมั่นคงของบสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตน จึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าสำนักงานประกันสังคมจะปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็นแบบขั้นบันได 3 ขั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับนายจ้างและผู้ประกันตน จาก 15,000 บาท ปี 2569-2571 ปรับเป็น 17,500 บาท ปี 2572-2574 ปรับเป็น 2 หมื่นบาท และบันไดขั้นสุดท้ายในปี 2575 เป็นต้นไป ปรับเป็น 23,000 บาท” นายบุญสงค์ กล่าว
นายบุญสงค์ ยังตอบคำถามสื่อมวลชน อาทิ ตัวเลขฐานเงินเดือนตามขั้นไดที่จะปรับนั้นมีที่มาจากอะไร ว่า ตัวเลขดังกล่าวมาจากการคำนวณขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุว่า ฐานนี้จะเพียงพอสำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ และไม่ใช่การเพิ่มรวดเดียว แต่จะค่อยๆ ขยับเพิ่ม ซึ่งเป็นการคิดเพื่อประโยชน์ในอนาคตของผู้ประกันตน เพราะหากได้รับเงินสมทบน้อยก็ไม่เพียงพอกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์
ภายในงานยังมีการจัดเสวนา โดย นายณภูมิ สุวรรณภูมิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า การปรับครั้งนี้จะมีนายจ้างและผู้ประกันตนที่ต้องส่งเงินสมทบเพิ่ม คือกรณีลูกจ้างหรือผู้ประกันตนที่เงินเดือนเกิน 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การปรับอัตราการส่งเงินสมทบ อย่างนายจ้างและลูกจ้างที่ปัจจุบันส่งเงินสมทบฝ่ายละร้อยละ 5 ของเงินเดือน ก็ยังใช้อัตรานี้คำนวณเหมือนเดิม
ซึ่งจะเห็นว่าส่งเพิ่มไม่มาก อย่างปี 2569 ที่จะปรับเพดานจาก 15,000 เป็น 17,500 บาท อัตราเงินสมทบที่จ่ายสูงสุด 750 บาท ก็จะเพิ่มไปอยู่ที่สูงสุดไม่เกิน 875 บาท หรือเพิ่มเพียงร้อยกว่าบาท แต่ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อดูจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด จะมีเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่ต้องจ่ายเพิ่มเพราะมีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ในขณะที่อีกราวร้อยละ 65 จะไม่ต้องส่งเพิ่มเพราะเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งประเทศไทยก็ถึงเวลาแล้วเพราะไม่เคยปรับมาตั้งแต่ปี 2534 ในขณะที่ยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาปรับกันทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อและการได้รับเงินเดือนเพิ่ม
ทั้งนี้ เคยมีความพยายามปรับเพดานสูตรคำนวณการจ่ายเงินสมทบโดยอิงฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนมามาแล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งสาเหตุเพราะแม้จะมีข้อมูลทางวิชาการรองรับ แต่ไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้จึงเกิดกระแสต่อต้าน ยิ่งเจอกระแสสื่อสังคมออนไลน์พาดหัวแชร์กันไปคนก็ยิ่งไม่เห็นด้วย บอกว่าเก็บแต่เงินไม่เห็นได้สิทธิ์อะไรเลย ดังนั้นเรื่องการสื่อสารให้สังคมเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
“เราเอาข้อมูลมาดูคนที่ตอบ คนที่เงินเดือนเกิน 15,000 สัดส่วนเห็นด้วยเยอะกว่าคนเงินเดือนไม่ถึง 15,000 อีก มันแปลกๆ พอไปอ่านความเห็น บอกว่าเงินเดือนก็น้อยยังต้องส่งเพิ่ม ก็เริ่มไม่ใช่แล้ว คือเขาก็ไปตอบในเว็บไซต์ เป็นอารมณ์ที่แชร์กันในโซเชียลว่าต้องส่งเงินเพิ่ม ครั้งนี้เราก็เลยทำงานกันจริงจังมากขึ้นเรื่องการสื่อสาร ก็เป็นบทเรียน คือเรื่องวิชาการอย่างเดียวไม่พอ ต้องเตรียมเรื่องการสื่อสาร” นายณภูมิ กล่าว
นายมนตรี ฐิโฆไท ตัวแทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า ในปี 2560 เคยมีแนวคิดปรับเพดานสูตรคำนวณการจ่ายเงินสมทบโดยอิงฐานเงินเดือนของผู้ประกันตน แต่ก็หยุดไปเพราะอาจมองว่ายังไม่ถึงเวลา แต่คณะกรรมการประกันสังคมชุดที่ 13 ก็ได้นำแนวคิดนั้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง แต่เมื่อเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย จึงให้กลับไปทบทวนใหม่และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องการสื่อสารที่อาจยังไม่ดีพอทั้งกับนายจ้างและผู้ประกันตน
“คณะกรรมการประกันสังคมชุดที่ 14 เข้ามาใหม่ๆ เลย ทางประกันสังคมก็เอาข้อมูลมานำเสนอ เราก็อ่านแล้วทบทวน ปรากฏว่าใช่เลย มันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพดานค่าจ้าง แต่อยากให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป คือขั้นบันได เริ่มต้นปี 2569 เท่านี้ก่อน ค่อยๆ เพิ่มไป จาก 17,500 ในปีที่ 1-3 ปีที่ 4-6 เพิ่มเป็น 2 หมื่น และปีที่ 7 ค่อยเพิ่มเป็น 23,000 เพราะจะได้มีการสร้างความรับรู้ความเข้าใจ แล้วค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นไป” นายมนตรี ระบุ
นายจตุรงค์ ไพรสิงห์ ตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนในคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่า ในการไปลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของผู้ประกันตน สิ่งที่พบคือผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท จะไม่เห็นด้วยกับการปรับเพดานสูตรคำนวณการจ่ายเงินสมทบ สะท้อนให้เห็นความไม่เข้าใจว่าการปรับเพดานสูงกว่า 15,000 บาท ไมได้ส่งผลใดๆ กับคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท แต่หากเงินเดือนสูงขึ้นก็มีโอกาสที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เมื่อไม่เข้าใจก็จะต่อต้านไว้ก่อน
ในทางกลับกัน คนที่มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับเพดานสูตรคำนวณการจ่ายเงินสมทบ อีกทั้งยังขอให้ปรับเพดานเพิ่มขึ้นกว่าที่ได้สอบถามไว้เสียด้วยซ้ำไป แต่ก็ต้องดูความพร้อมของฝ่ายนายจ้างด้วยเพราะเป็นผู้ร่วมจ่ายเงินสมทบคู่กับลูกจ้าง และในอนาคตสำหรับตนคืออยากเห็นการจ่ายอย่างเท่าเทียมกันของทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งปัจจุบันจะเห็นนายจ้างกับลูกจ้างจ่ายฝ่ายละร้อยละ 5 แต่ฝ่ายรัฐยังจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 2.75
“อย่างหนึ่งที่ผู้ประกันตนพยายามพูด ผมรับฟังความคิดเห็นมา เขาพูดว่าการจ่ายเพิ่มขึ้น เขาต้องการปรับฐานค่าจ้างให้เกิน 15,000 ขึ้นไปเขาจ่ายได้ แต่เขาต้องการความโปร่งใส ความยั่งยืน การชี้แจงที่ตรงไปตรงมาต่อผู้ประกันตนอย่างแท้จริง ซึ่งผมมองว่าตอนนี้ ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีการพัฒนาอย่างกว้างขวางมากขึ้น ให้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น และมีการนำระบบออนไลน์มาสื่อสารให้พวกเรามีความเข้าใจและมั่นใจในกองทุนมากขึ้นในอนาคต” นายจตุรงค์ กล่าว
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาด้านการเงินการคลัง คณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า การปรับเพดานสูตรคำนวณการจ่ายเงินสมทบโดยอิงฐานเงินเดือนของผู้ประกันตน ส่งผลต่อระบบบำนาญให้มั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะสังคมชราภาพ ขณะที่ประกันสังคมก็เป็นระบบที่ใหญ่และดีที่สุดในการดูแลสิทธิประโยชน์เรื่องชราภาพ
“ถ้าเรายกระดับเพดานค่าจ้างขึ้นมา จะทำให้ความยั่งยืนของระบบบำนาญมันมีความยั่งยืนมากขึ้น หลายคนคงได้ยินข่าวว่ามีการคาดการณ์ มีการวิจัยว่ากองทุนชราภาพอาจจะเงินหมดปี 2597 องค์การแรงงานระหว่างประเทศก็เตือนว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเรามีการปฏิรูประบบประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง และการยกระดับเพดานค่าจ้าง เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบประกันสังคม เราจะไม่มีฝันร้ายว่าพอถึงปี 2597 เงินหมด” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ระบบกลางทา'กฎหมาย http://www.law.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายต่างๆ ในหมวด “กระทรวง/หน่วยงานอิสระ” ให้เลือกกระทรวงแรงงาน จากนั้นในหมด “กรม” ให้เลือก สปส. สำนักงานประกันสังคม แล้วเลือกหัวข้อ “โครงการรับฟังความคิดเห็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อปรับเพดานค่าจ้าง”
หรือคลิกที่ https://www.law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDY5NkRHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=
โดยสามารถแสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2567
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี