อสส.ส่ง"เชน นากูรู" หนุ่มกีวีเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ ฐานสนับสนุนอุปกรณ์เข้ารหัส ANOM แก่องค์กรอาชญากรรมทั่วโลก ค้ายา ฟอกเงิน วางแผนฆาตกรรม
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 น.ส.วรันธร วานิชถาวร อัยการประจำกอง สำนักงานต่างประเทศ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เกี่ยวกับการดำเนินคดีกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ภายใต้ปฏิบัติการ Trojan Shield ซึ่งเป็นปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มอาชญากร ที่มีส่วนร่วมในการแจกจ่ายอุปกรณ์สื่อสารเข้ารหัส (hardened encrypted device) ที่เรียกว่า ANOM ให้กับองค์กรอาชญากรรมทั่วโลก
โดยบุคคลที่ถูกดำเนินคดีมี นายเชน นากูรู (Shane Ngakuru) สัญชาตินิวซีแลนด์ เป็นจำเลยรวมอยู่ด้วย ซึ่งนายเชน ให้การรับสารภาพในความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรม (Racketeering Conspiracy) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี ตามที่นายเชน กับพวก ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนอุปกรณ์สื่อสารที่เข้ารหัส ANOM แก่องค์กรอาชญากรรมทั่วโลก ซึ่งต่อมาได้ถูกใช้ในการค้ายาเสพติด ฟอกเงิน และวางแผนอาชญากรรมอื่นๆ
สำหรับนายเชน จำเลยในคดีนี้ เป็นบุคคลที่ทางการสหรัฐฯ ได้ส่งคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน และคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีทางอาญามายังทางราชอาณาจักรไทย เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการเมื่อปี 2564 และอัยการสูงสุดผู้ประสานงานกลางได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือ ตามที่ทางการสหรัฐฯ ร้องขอ โดยมอบหมายให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 3 เป็นผู้ดำเนินการประสานงาน จนกระทั่งเจ้าพนักงานสามารถจับกุมตัวจำเลยได้สำเร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2565
ต่อมา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 3 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวนายเชนจำเลยนี้ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ การดำเนินการสำเร็จลุล่วงในปี 2567 หลังจากที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ให้ส่งตัวจำเลยเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ และทางการราชอาณาจักรไทย ได้ส่งตัวจำเลยให้แก่ทางการสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
กรณีนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายคดีที่ทางการราชอาณาจักรไทย โดยอัยการสูงสุด ผู้ประสานงานกลาง ได้ส่งตัวผู้ต้องหาสำคัญเป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ทางการสหรัฐฯ ตามสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพในการปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งพนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของทั้งสองประเทศ สำหรับความช่วยเหลือในการรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดดังกล่าวนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา พ.ศ.2529 (ค.ศ.1986) ต่อไป
อนึ่ง ปฏิบัติการ Trojan Shield เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากมากกว่า 16 ประเทศเข้าร่วม รวมถึงสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป แคนาดา และประเทศไทย โดยที่หน่วยงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ FBI ได้ปฏิบัติการอำพรางเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายการส่งข้อความเข้ารหัสลับ(encrypted messaging network) โดยมีกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ANOM เป็นผู้รับผิดชอบในการแจกจ่ายอุปกรณ์สื่อสารดังกล่าวเป็นจำนวนมากกว่า 12,000 เครื่องใน 100 ประเทศ ให้แก่ผู้ใช้งาน ANOM ซึ่งเป็นอาชญากรทั่วโลกได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวสื่อสารกัน โดยที่ไม่รู้ตัวว่าเครือข่ายการสื่อสารดังกล่าวได้ถูกตรวจสอบและควบคุมโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เช่น FBI ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถรวบรวมข้อความจากอาชญากรทั่วโลกได้มากกว่า 27 ล้านข้อความ ซึ่งการสนทนาที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมเหล่านี้ถูก FBI รวบรวมและตรวจสอบจนนำมาสู่ปฏิบัติการในขั้นสุดท้าย ซึ่งได้ดำเนินการพร้อมกันทั่วโลก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2021
โดยระหว่างการปฏิบัติการดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเข้าร่วมมากกว่า 10,000 คน ส่งผลให้มีการจับกุมผู้ต้องหาประมาณ 1,200 ราย และทำการค้นหามากกว่า 700 จุดทั่วโลก สามารถยึดโคเคนมากกว่า 12 ตัน เมทแอมเฟตามีนหรือแอมเฟตามีน 3 ตัน สารเคมีตั้งต้น 17 ตัน อาวุธปืน 300 กระบอกและเงินสด 58 ล้านดอลลาร์ในสกุลเงินต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการสืบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่อีกหลายสิบคดี และการรื้อถอนห้องปฏิบัติการยาเสพติดมากกว่า 50 แห่ง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการป้องกันภัยคุกคามต่อชีวิตมากกว่า 150 ครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแอปพลิเคชันส่งข้อความเข้ารหัส ที่ชื่อว่า "ANOM" (อานอม) ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2564 เคยปรากฏเป็นข่าวว่า แอปนี้กลับถูกบริหารจัดการโดย FBI ของสหรัฐฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง FBI กับตำรวจออสเตรเลีย โดยแพร่กระจายแอป ANOM ไปในหมู่แก๊งอาชญากรรมอย่างลับๆ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดักฟังข้อมูลต่างๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็นแผนลักลอบขนยาเสพติด , การฟอกเงิน หรือแม้แต่วางแผนฆาตกรรม
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี