กทม. เร่งสร้างสะพานเกียกกายคาดแล้วเสร็จปี 2569 พร้อมศึกษาทางแก้ปัญหาจราจรหลังยกเลิกก่อสร้างสะพาน 2 แห่ง (จันทน์-เจริญนคร / ลาดหญ้า-
มหาพฤฒาราม)
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานในความดูแลของ กทม.ตามแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย กทม. ได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี เริ่มจากถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันอยู่ระหว่างงานก่อสร้างเสาเข็มและฐานราก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย. 2569 ผลการดำเนินงานมีความคืบหน้าร้อยละ 9.03ช้ากว่าแผนงาน เนื่องจากการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าพื้นที่บางส่วนได้ ส่วนช่วงที่ 2ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทางขึ้น-ลง ผลการดำเนินงานมีความคืบหน้าร้อยละ 33.20 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค. 2569 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้ง Tower Crane เพื่อใช้ประกอบและติดตั้งงาน Form TravelerP2 และวางเหล็กเสริมคอนกรีต PierHead P3 และช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยา-แยกสะพานแดง อยู่ระหว่างนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติก่อหนี้ผูกพันโครงการฯ และขอจัดสรรงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ สำนักการโยธา (สนย.) อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจร กรณีที่มีการยกเลิกการก่อสร้างสะพานจันทน์-เจริญนคร และโครงการสะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม เนื่องจากพบอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ โดยโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0505/33604 ลงวันที่ 26 ต.ค. 2564 เรียนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแจ้งว่า คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 มีมติรับทราบเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการเสนอแผนการใช้ที่ดินและผังแม่บท ศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแผนการใช้ที่ดินและผังแม่บทศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญนคร แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสานบนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ที่ กท. 1989 (บางส่วน) เดิมเป็นพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และเป็นพื้นที่เดียวกันกับพื้นที่โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร อีกทั้งยังมีโบราณสถานตั้งอยู่ในบริเวณรัศมี 1 กิโลเมตรโดยรอบโครงการฯ ได้แก่ วัดเศวตฉัตรวรวิหาร จึงต้องศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างละเอียดรอบคอบ รวมทั้งมีการคัดค้านจากประชาชนจำนวนมาก
ส่วนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม เนื่องจากกายภาพบริเวณจุดตัดถนนเจริญนครกับถนนลาดหญ้ามีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ โรงพยาบาลตากสินมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองบนถนนเจริญนครใกล้จุดก่อสร้างทางขึ้น-ลงสะพาน ซึ่งตัดกับทางลาดสะพาน และที่ดินเอกชนบริเวณทางแยกมีการก่อสร้างเป็นอาคารสูง จึงทำให้เหลือพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขึ้น-ลงของสะพานไม่เพียงพอ รวมทั้งมีโบราณสถานตั้งอยู่ในบริเวณรัศมี 1 กิโลเมตรโดยรอบโครงการ ได้แก่ วัดทองนพคุณ วัดทองธรรมชาติ ป้อมป้องปัจจามิตร มัสยิดเชฟีและโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งต้องศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)อย่างละเอียดรอบคอบ และมีการคัดค้านจากประชาชนจำนวนมาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี