คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร (ภาคพิเศษ) รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมเกษตรยุคดิจิทัล มุ่งสร้างผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ สามารถบูรณาการองค์ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับการแก้ปัญหาหรือสร้างคุณค่าที่มีผู้ใช้ประโยชน์จริง ประเดิมปีการศึกษาแรก มิถุนายน 2568 เหมาะสำหรับผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูง ที่ปรึกษาทางธุรกิจและผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ ทั้งด้านวิชาการ ทักษะ และประสบการณ์ ผ่านการศึกษาวิจัยด้านนวัตกรรมและการจัดการที่ประยุกต์ให้เข้ากับภาคอุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิผล
รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือพลิกผันทางเทคโนโลยี วิถีชีวิต พฤติกรรมและความต้องการของตลาด ส่งผลให้ธุรกิจเกษตรและอาหาร ต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในหลายบริบทเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการบริโภค นอกจากนี้การพัฒนาให้โซ่อุปทานเกษตรและอาหารจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้และกลยุทธ์ หรือวิสัยทัศน์ของบุคลากรระดับผู้นำในการบริหารจัดการเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินการเพื่อสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาหรือสร้างโอกาสหรือคุณค่าในทางธุรกิจ รวมถึงการกำหนดนโยบาย
“เดิมหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร มีเปิดการเรียนการสอนในภาคปกติอยู่แล้ว แต่การเรียนในเวลาราชการยังไม่ตอบโจทย์สำหรับผู้บริหาร ที่ปรึกษาทางธุรกิจ และผู้ประกอบการ ที่ต้องทำงานเต็มเวลา และยังต้องการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ และประสบการณ์จากงานวิจัย เพื่อนำไปต่อยอดในธุรกิจ ทางคณะอุตสาหกรรมเกษตรจึงได้พิจารณาเปิดหลักสูตรดังกล่าวขึ้น โดยใช้เวลาเรียนนอกวันและเวลาราชการ คือ วันอาทิตย์ และใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 3 ปี ซึ่งหลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นการสร้างผู้นำองค์กรให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความรู้ลึกในเชิงวิชาการ สามารถคิดและทำวิจัย บูรณาการองค์ความรู้มาพัฒนาองค์กร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติและระดับนานาชาติได้”
ด้าน รศ.ดร.ปรารถนา ปรารถนาดีประธานหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร ภาคพิเศษ กล่าวว่า หลักสูตรนี้มีเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิชานวัตกรรมและการจัดการทางอุตสาหกรรมเกษตร บนแนวคิดหลักคือ สามารถออกแบบและสร้างสรรค์แนวคิดนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และพัฒนาระบบการดำเนินงานในโซ่อุปทานและการจัดการเชิงกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาและดำเนินการจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ด้วยองค์ความรู้และทักษะสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยผู้ที่เรียนจบจะมีความสามารถในการทำงานวิจัยเชิงลึกในสาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร และสามารถบูรณาการองค์ความรู้ ทักษะและงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหา หรือสร้างโอกาสและคุณค่าให้กับธุรกิจหรือองค์กรของตน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในบ้านเราได้
รศ.ดร.รวิพิมพ์ ฉวีสุข กรรมการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรม เกษตร ภาคพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นการจัดการเรียนการสอนนอกวันและเวลาราชการแบบ Onsite และ Online เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียนในวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. และอาจจะมีเสริมในวันอังคาร เวลา 18.00-21.00 น. ทาง Online โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 3 ปีหรือ 6 ภาคการศึกษาปกติ ตามปฏิทินการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งภาคการศึกษาที่ 1 จะเปิดการเรียนการสอนในช่วงปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนพฤศจิกายน และภาคการศึกษาที่ 2 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนเมษายน โดยหลักสูตรนี้มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ประกอบด้วยวิชาเรียน ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต และวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต โดยมีวิชาหลักคือ การพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมเกษตร ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูงทางนวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร และวิชาสัมมนา และวิชาเลือกคือรายวิชาในกลุ่มของการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดการโซ่อุปทาน การตลาด และการจัดการเชิงกลยุทธ์ ทั้งนี้ ผู้สนใจยังสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้อีกด้วย
“หลักสูตรนี้สอดคล้องและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2580) ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์และสร้างการเติบโตของระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือการสร้างสรรค์ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงานตามภารกิจบนหลักธรรมาภิบาล และการเพิ่มศักยภาพในการบริหารและจัดการทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลง”
ผศ.ดร.อัจฉรา เกษสุวรรณ เลขานุการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมและการจัดการอุตสาหกรรมเกษตร ภาคพิเศษ เสริมว่า สำหรับค่าเล่าเรียนในหลักสูตรนี้จะอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท สำหรับ 6 เทอมการศึกษา รวมค่าอาหาร คอฟฟี่เบรก กิจกรรมการเรียนการสอนและการศึกษาดูงานในประเทศ โดยไม่รวมค่าศึกษาดูงานต่างประเทศ (ตามความสมัครใจ) ซึ่ง นิสิตสามารถออกแบบกิจกรรมการศึกษาดูงานต่างประเทศได้เอง เพื่อให้นิสิตมีส่วนร่วมและเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม โดยมีคณาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ ในอนาคตคณะอุตสาหกรรมเกษตรยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทุกหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพระดับสากล โดยเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก และเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยี สังคมสิ่งแวดล้อม และ generation change รวมถึงความรู้พื้นฐานที่จำเป็น พร้อมส่งเสริมให้มีแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบ Hybrid คือทั้ง online และ offline เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น และในหลักสูตรแบบ Non-Degree ก็จะมีการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการเพิ่มทักษะเดิมปรับเปลี่ยนทักษะใหม่ และเสริมทักษะที่จำเป็นในอนาคต เพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคคลที่ทำงาน หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรได้มีโอกาสเข้ามาศึกษา โดยจะมีการจัดทำบทเรียนออนไลน์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และขยายโอกาสการศึกษาให้กับผู้เรียนทุกกลุ่มด้วย สำหรับผู้ที่สนใจอยากย้ายหน่วยกิตมาศึกษาต่อในหลักสูตรนี้ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็สามารถทำได้ ซึ่งต้องมาพูดคุยกันในส่วนรายละเอียดต่างๆ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี