ดร.ดำรงพล คำแหงวงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยการแปลงเป็นดิจิทัล สำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจ (DTRAB center) สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงโครงการ “แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บล็อกเชน เพื่อการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการตลาดข้าวไทยในตลาดโลก แก้ปัญหาความยากจนและเสริมศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยอย่างยั่งยืน” ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากโครงการยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยการแปลงเป็นดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจ (DTRAB Center) สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ชื่อว่า “แพลตฟอร์ม DLT-Blockchain” เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลมาตรฐานเปิดสำหรับการซื้อ-ขายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องข้าวไทย ตั้งแต่ชาวนาจนถึงผู้ส่งออก
ระบบการทำงานของแพลตฟอร์มนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมให้กับตลาดข้าวไทย โดยอาศัยการเปิดเผยข้อมูลปริมาณการซื้อ-ขาย รวมถึงคุณภาพการผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP), มาตรฐานการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice : GMP), การรับรองเกษตรอินทรีย์, คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint), คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit), การรับรองสินค้าเกษตรไม่เผา (Non-Burning Agricultural Product Certification) รวมถึงมาตรฐานคุณภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลมาตรฐานและคุณภาพที่บันทึกไว้ในแพลตฟอร์มดังกล่าว ช่วยสะท้อนจุดขายและเอกลักษณ์ของข้าวจากเกษตรกรแต่ละราย ทำให้สามารถกำหนดราคาจำหน่ายได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับคุณภาพและมูลค่าที่แท้จริงของสินค้า นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับผู้ซื้อได้โดยตรง ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางและปัญหาการถูกกดราคารับซื้อ ส่งผลให้เกิดตลาดข้าวในรูปแบบดิจิทัลที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถกำหนดราคาตามคุณภาพข้าวที่ผลิตได้อย่างเป็นธรรม แนวทางนี้ไม่เพียงเพิ่มมูลค่าข้าวไทยในตลาด แต่ยังช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว
การใช้แพลตฟอร์ม “DLT-Blockchain” ในการทำธุรกรรมซื้อขายข้าวไม่ได้จำกัดเฉพาะตลาดภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและ ผู้ประกอบการภาคการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในภาคเกษตรกรรมของประเทศ ช่วยเสริมสร้างอำนาจต่อรองในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และเครื่องมือทางการเกษตร
นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม DLT-Blockchain ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจัดการที่เกี่ยวข้องกับ มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ของประเทศคู่ค้า เช่น มาตรฐาน GMP และการรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic Certification) เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้ที่ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบในบล็อกเชน สามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกับ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เพื่อสนับสนุนการวางแผนและการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิต การวางแผนพื้นที่เพาะปลูก และการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีนี้ยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ที่ตรงกับความต้องการของตลาด การขยายช่องทางการส่งออกข้าวไทยสู่ตลาดสากล และการขับเคลื่อนเกษตรกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
ดร.ดำรงพลกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ระบบ DLT-Blockchain ได้มีการทดลองใช้งานจริงกับกลุ่มวิสาหกิจ ชุมชนข้าวอินทรีย์เมืองเขมราฐธานี จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีเกษตรกรเป็นสมาชิกกว่า 300 ราย และได้รับ ผลตอบรับที่ดีจากการนำระบบมาใช้ในการซื้อขายข้าว ทั้งในด้านความสะดวก ความโปร่งใส และประสิทธิภาพของการทำธุรกรรม คาดว่าระบบจะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้เกษตรกร ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และรายย่อยที่ต้องการซื้อขายข้าว สามารถเข้าใช้งานแพลตฟอร์มได้ภายในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี