จังหวัดเชียงราย-ร่วมทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ห้องประชุมธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Cell Broadcast โดยมี นางสินีนาฏ ทองสุข นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการทดสอบครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง
สำหรับการทดสอบดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), และกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยในลักษณะการส่งข้อความ Cell Broadcast ระดับพื้นที่ (Local Area) ครอบคลุมบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงราย และพื้นที่โดยรอบในรัศมี 2 กิโลเมตร
ทั้งนี้ การทดสอบระบบดังกล่าวได้ดำเนินการพร้อมกันในอีกสามจังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสงขลา ในเวลา 13.00 น. โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานในการทดสอบระดับประเทศ
การทดสอบในครั้งนี้เป็นการส่งข้อความแจ้งเตือนประเภท “National Alert” จำนวน 1 ครั้ง โดยข้อความที่ส่งมีระยะเวลาแสดงผลบนหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 นาที มีเนื้อความว่า “ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM). No action required.” ซึ่งผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครือข่ายทั้งระบบ Android และ iOS ต่างได้รับข้อความพร้อมเสียงแจ้งเตือนบนอุปกรณ์ของตนอย่างพร้อมเพรียง
จากการติดตามผลการทดสอบในพื้นที่โดยรอบศาลากลางจังหวัดเชียงราย พบว่าประชาชนในชุมชนน้ำลัด รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในศาลากลาง ต่างได้รับข้อความแจ้งเตือนเช่นเดียวกัน โดยประชาชนส่วนใหญ่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีการทดสอบ เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจและลดความตื่นตระหนกในประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่รัศมี 2 กิโลเมตรรอบศาลากลางจังหวัด
นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือหากไม่สามารถเก็บหรือเซฟข้อมูลเอาไว้ได้ทำให้ข้อมูลหายไป ซึ่งสิ่งนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ต้องแจ้งไปยังกรม ปภ.ว่า ต้องการสิ่งใดเพิ่ม โดยเฉพาะโทรศัพท์รุ่นต่ำๆ เพื่อให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง หรือให้ข้อความแจ้งเตือนได้ค้างอยู่ในระบบเพื่อให้สามารถเปิดดูได้ เพราะบางคนอาจจะไม่มีโทรศัพท์ที่แจ้งเตือนติดตัวได้อยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ระบบ Cell Broadcast ดังกล่าว นอกจากจะสามารถใช้แจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหวแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับแจ้งเตือนภัยพิบัติประเภทอื่น ๆ อาทิ อุทกภัย วาตภัย โรคระบาด หรือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ///-026
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี