‘ปลาหมอคางดำ’ไม่ใช่ศัตรู ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์ให้เป็น
ในช่วงเวลาที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia – Sarotherodon melanotheron) ว่าเป็น “ปลาต่างถิ่นรุกราน” ที่เข้ามาแสวงหาถิ่นที่อยู่ในระบบนิเวศของไทย เราอาจลืมไปว่า “ทุกวิกฤตมีโอกาส” หากเรามองเห็นศักยภาพของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
วันนี้ ปลาหมอคางดำ อาจไม่ใช่ผู้ร้าย แต่มีโอกาสกลายเป็น “ทรัพยากรอาหารที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์” อย่างเต็มที่ และอาจเป็นคำตอบในการลดค่าครองชีพของครัวเรือน สร้างรายได้ และเป็นแรงจูงใจในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ปลาหมอคางดำ มีไขมันต่ำ โปรตีนสูง โอเมก้าในระดับที่เหมาะสม มีคุณค่าทางโภชนาการไม่แพ้ปลาน้ำจืดชนิดอื่น จากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ปลาหมอคางดำให้ปริมาณโปรตีนใกล้เคียงกับปลานิลหรือปลาทับทิม ซึ่งเป็นปลาที่ได้รับความนิยมในตลาดไทย สามารถนำไปปรุงอาหารได้ทั้งแบบต้ม แกง ทอด ย่าง และทำอาหารแปรรูป
บางชุมชนในจังหวัดสมุทรสาคร เพชรบุรี และราชบุรี ได้ทดลองจับปลาหมอคางดำมาทำ ปลาแดดเดียว ปลาร้า ปลาย่างรมควันและขายในตลาดท้องถิ่น โดยใช้วิธีปรุงรสหรือหมักเพื่อช่วยลดกลิ่นโคลนและเพิ่มรสชาติให้เป็นที่ยอมรับ สถาบันการศึกษาหลายแห่ง นำปลาหมอคางดำไปแปรรูปทำเมนูอาหารน่ารับประทานหลายรายการ เช่น น้ำยา ไส้อั่ว ข้าวเกรียบ ปลาร้า น้ำพริก ทอดมัน ลูกชิ้น เป็นต้น
เห็นได้ว่าประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของปลาหมอคางดำ ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก แต่ยังสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลาย เช่น น้ำหมักชีวภาพ ใช้ปลาหมอคางดำร่วมกับผลไม้รสเปรี้ยวและกากน้ำตาลหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพใช้ในภาคเกษตร หรือ อาหารสัตว์ ใช้เนื้อปลาไปบดเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสำหรับปลากะพงขาวหรือปูทะเล ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้
ล่าสุดชาวบ้านและชุมชนในบางจังหวัดที่พบปลาหมอคางดำไม่นั่งรอหรืองอมืองอเท้าแต่ลุกขึ้นมาทำ ไม่ได้แค่จัดการปัญหาแต่กำลังเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส ด้วยการรวมตัวกันออกจับปลาหมอคางดำในแม่น้ำลำคลองใกล้บ้าน เพื่อนำไปแปรรูปจำหน่ายหรือแจกจ่ายให้ผู้มีรายได้น้อยในชุมชน บางจังหวัดจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ใช้เครื่องมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำปลาที่จับได้ไปเพิ่มมูลค่าตามแบบที่ตัวเองถนัดรวมถึงบริโภคในครัวเรือน
เพื่อให้การจัดการปลาหมอคางดำมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางที่ยั่งยืน แนวทางสำคัญที่กรมประมงรณรงค์ขอความร่วมมือจากคนไทยคือ "จับ-ใช้ประโยชน์-แจ้งกรมประมง" โดยจับให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ทั้งในบ่อที่ไม่มีการใช้งานและแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อจำกัดการขยายพันธุ์ และนำปลานั้นไปใช้ประโยชน์ทั้งอาหารมนุษย์ อาหารสัตว์ น้ำหมักหรือการแปรรูป และที่สำคัญแจ้งกรมประมงหรือสำนักงานประมงจังหวัดทันที หากพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อวางแผนกำจัดตามหลักวิชาการโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในประเทศไทย "อย่ามองแค่ปัญหาแต่ควรมองหาทางออกที่สร้างสรรค์” จึงไม่ควรมองแต่เพียงด้านลบของปลาหมอคางดำอย่างเดียว ควรให้ข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องกับสังคม และควรส่งเสริมให้เกิดการลงมือ “จับและใช้ประโยชน์” จะสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืน ซึ่งสังคมไทยจะปลอดภัยจากปลารุกรานได้จริงก็ต่อเมื่อเราร่วมมือกันจัดการอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่เพียงตั้งแง่ต่อต้าน แต่ต้องรู้จัก "ใช้โอกาสจากปัญหาให้เกิดประโยชน์สูงสุด"
อัยย์ วิทยาเจริญ นักวิชาการอิสระด้านสัตว์น้ำ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี