เลคเชอร์วิกฤติ‘พนักงานสอบสวน’ งานหนัก เงินน้อย ขาดโอกาสเติบโต ระบบที่กำลังล่มสลาย
5 พฤษภาคม 2568 พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ โพสต์เฟซบุ๊ก Aek Angsananont ถึงกรณีปัญหาขาดแคลนพนักงานสอบสวน ระบุว่า...
สองข่าว สะท้อนปัญหาเดียวกัน : วิกฤตพนักงานสอบสวน
ช่วงนี้มีสองข่าวใหญ่ที่ดูเหมือนจะแยกกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สะท้อนถึงปัญหาเดียวกัน คือ “วิกฤตงานสอบสวน” ของตำรวจไทย
ข่าวแรก คือข้อเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) โดยเสนอให้การออกหมายเรียก หมายค้น หรือหมายจับ ต้องผ่านความเห็นชอบจากอัยการก่อนเสนอศาล ให้อัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวน และในส่วนภูมิภาคให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีสิทธิให้ความเห็นแย้งเมื่ออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
ข่าวที่สอง คือปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลนในระดับวิกฤต งานล้นมือ จนทำให้เกิดภาวะเครียด บางรายป่วย บางรายหมดแรงจูงใจในการทำงาน จนสังคมเริ่มตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม
ความจริงแล้ว สองข่าวนี้คือเรื่องเดียวกัน และมีจุดเริ่มต้นเดียวกัน — ระบบสอบสวนที่กำลังล่มสลาย
ย้อนกลับไปในปี 2559 รัฐบาล คสช. มีคำสั่งยกเลิก “แท่งพนักงานสอบสวน” ทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีเส้นทางความก้าวหน้าในสายงานของตนเอง ทั้งที่ต้องรับผิดชอบงานที่หนักที่สุดในระบบตำรวจ หลายคนจึงย้ายไปหน่วยอื่นที่มีโอกาสเติบโตมากกว่า เช่น สายสืบสวน ปราบปราม ตม. หรือท่องเที่ยว
สถานการณ์ยิ่งเลวลงเพิ่มขึ้น เมื่อมีปัญหาอื่นๆสะสมอีกมากมาย เช่น
• ค่าตอบแทนพิเศษและค่าทำสำนวนไม่เพียงพอ เมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานสอบสวนในหน่วยงานอื่น เช่น DSI หรือ ปปท.
• ขาดผู้ช่วย เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็น
• คดีออนไลน์เพิ่มขึ้นมหาศาล ปี 2566–67 เฉลี่ยวันละ 800 คดี รวมปีละเกือบ 300,000 คดี
• พนักงานสอบสวนหนึ่งคนต้องรับผิดชอบคดี 200–500 คดีต่อปี ทั้งที่มาตรฐานควรไม่เกิน 70 คดี
• มีตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ 18,000 ตำแหน่ง แต่มีคนทำงานจริงเพียง 12,000 คน ขาดแคลนถึง 6,000 คน
ผลที่ตามมา คือกระบวนการสอบสวนล่าช้า ประชาชนต้องวิ่งเต้นกับสื่อหรือ Influencer เพื่อให้คดีของตนเดินหน้า ความเชื่อมั่นในตำรวจถดถอยอย่างน่ากังวล
เมื่อผมเข้ามาทำหน้าที่ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งแต่มีนาคม 2566 ผมได้เสนอปัญหานี้ต่อที่ประชุม ก.ตร. และได้ข้อสรุปในเบื้องต้น เช่น
• อบรมและแต่งตั้งพนักงานสอบสวนใหม่ปีละ 1,000 คน รวม 4 ปี 4,000 คน
• เพิ่มค่าตอบแทนและค่าสำนวน
• แต่งตั้งผู้ช่วยพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม
• ตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ตร. พัฒนางานสอบสวนเพื่อติดตามและผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่อง
แต่อุปสรรคสำคัญคือ “งบประมาณ” ที่ไม่เพียงพอ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลจึงต้องเป็นฝ่ายผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจัง
สำหรับข้อเสนอแก้ไข ป.วิ.อาญา ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดอำนาจพนักงานสอบสวน หรือเพิ่มบทบาทให้อัยการ ผมเคารพทุกความคิดเห็น แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ เราต้องกลับมาโฟกัสที่ “การฟื้นฟูระบบสอบสวนที่กำลังล่มสลาย”
ถ้าพนักงานสอบสวนยังต้องทำงานหนักเกินมนุษย์ ค่าตอบแทนน้อย ขาดขวัญกำลังใจ ขาดโอกาสเติบโต ต่อให้เปลี่ยนโครงสร้างกฎหมายแค่ไหน ก็ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้จริง
ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นใจ สนับสนุนงบประมาณและกำลังคนอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงชั่วคราว แต่ต้องสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูระบบสอบสวนไทยให้มีศักดิ์ศรี มีประสิทธิภาพ และสามารถปกป้องสิทธิของประชาชนได้อย่างแท้จริง
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี