กทม. นำสื่อมวลชนชมภารกิจการรื้อถอน และค้นหาผู้ติดค้างในอาคาร สตง. พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนการทำงานมาจนถึงวันนี้
วันที่ 6 พ.ค.68 นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุริยชัย ระวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นำคณะสื่อมวลชน ร่วมติดตามลงพื้นที่บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ เขตจตุจักร ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลการปฏิบัติงานตลอด 40 วันที่ผ่านมา หลังประเมินแล้วว่าในจุดที่นำคณะสื่อมวลชนเข้าไปนั้น มีความปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว โดยมี นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. เป็นผู้รายงานผลการดำเนินงานในจุดต่าง ๆ โดยระบุว่า ลักษณะของอาคารที่ถล่มเป็นอาคารสูง 30 ชั้น มีพื้นที่รวม 40×40 เมตร หรือประมาณ 50,000 ตารางเมตร มีลิฟท์ 10 ตัว และหลังจากเกิดเหตุการณ์ถล่มแล้ว โครงสร้างอาคารมีการลาดเอียงไปทางด้านหลัง ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับอาคารจอดรถ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าช่วงระหว่างที่ถล่มนั้นอาจมีคนวิ่งเข้ามาในส่วนของอาคารจอดรถด้วย จึงยังคงต้องมีการค้นหาในบริเวณนี้ต่อจนกว่าจะเคลียร์พื้นที่ได้แบบแล้วเสร็จ 100% ซึ่งจากการจำลองการหนีของคนส่วนใหญ่ของทุกชั้นจะวิ่งมาหาบันไดหนีไฟ ซึ่งเป็นจุดเดียวของอาคารที่เชื่อมระหว่างอาคาร 30 ชั้นกับอาคารจอดรถยนต์ จึงอาจมีผู้ติดค้างติดอยู่บริเวณเศษซากอาคารที่ถล่มลงมาในบริเวณจุดเชื่อมได้ ซึ่งสมมุติฐานดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่พื้นที่ที่พบผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในโซน C ตรงจุดที่คาดว่าเป็นช่วงบันไดหนีไฟ จึงคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 วันจะค้นหาบริเวณชั้นใต้ดินแล้วเสร็จ และภายใน 4-5 วัน จึงจะแล้วเสร็จภารกิจ โดยในเบื้องต้นจะพยายามให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
“อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า กทม. ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานในการกู้ซากอาคาร แต่ยืนยันว่าจะทำงานด้วยความพยายามและระมัดระวัง เพื่อค้นหาและนำผู้ติดค้างออกมาให้ได้ครบถ้วนที่สุด” นายไทวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ กทม. ขอขอบคุณการสนับสนุนเครื่องจักรกล และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากทุกหน่วยงานภาคี ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เข้ามาช่วยดำเนินการตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ ซึ่งทุกคนมาด้วยใจและช่วยกันดำเนินการอย่างเต็มที่ จนภารกิจในครั้งนี้มีเครื่องจักรร่วมสนับสนุนการดำเนินการทั้งหมดกว่า 80 เครื่อง แม้การดำเนินงานในแต่ละวันค่อนข้างมีอุปสรรค มีการวางแผนงานการประชุม 9 โมงเช้าและ 6 โมงเย็นทุกวัน และหน้างานมีการมีปัญหา ที่ต้องวางแผนแก้ปัญหาในแต่ละวันที่ไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนที่เข้ามาก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ในการค้นหาผู้สูญหาย และตลอดเวลาที่ผ่านมาเครื่องจักรต่างๆ มีการทำงานอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่จะเร่งกู้ร่างของผู้ที่ติดอยู่ในซากตึก ซึ่งการทำงานของเครื่องจักรทุกคันในวันนี้จะเน้นไปที่การทำงานบริเวณชั้นใต้ดินทั้งหมด
036
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี