มท. และ อว. สานพลังเดินหน้าแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมระดับพื้นที่ โดย สกสว.และภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนงานวิชาการและนวัตกรรม มุ่งลดภัย ลดเสี่ยง พร้อมมีมาตราการสร้างรายได้เสริม ด้านประธานแผนงานเป้าหมายสำคัญด้านน้ำชี้สถานการณ์น้ำของไทยปีนี้แนวโน้มจะมีฝนมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ชุมชนและท้องถิ่นในพื้นที่ควรเตรียมการดูแลภัยธรรมชาติอย่างมีข้อมูลและมีส่วนร่วม
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายชยชัย แสงอินทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานแถลงข่าว “การแก้ไขปัญหาน้ำมั่นคง น้ำแล้ง น้ำท่วมระดับพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 14 สกสว. พร้อมเป็นประธานการประชุมคณะทำงานการขับเคลื่อนการดำเนินการความร่วมมือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือทางวิชาการอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนภารกิจหลักของกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ ทั้งการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานให้ทุน รวมถึงหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกกระทรวง อว. เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของกระทรวงมหาดไทย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. รวมถึงการผลักดันการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้ได้ผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด ตลอดจนการสนับสนุนเครือข่ายมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำในระดับพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น
ด้าน ผู้ตรวจราชการ มท. กล่าวถึงการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย และแผนงานรองรับ ว่า รองนายกฯ และ รมว.มท. นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานเชิงรุกและการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในปี 2568 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับกระทรวง อว. ในการเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเฝ้าระวังและรับมือภัยแล้ง อุทกภัย ให้กับบุคลากรของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรเข้าถึงข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเข้าถึงข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ รวมถึงระบบเพื่อการตัดสินใจวางแผนงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนการดำเนินการความร่วมมือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวง อว. และ สกสว. จะประสบความสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ โดยที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งจากกระทรวง อว.มาตลอด จากนี้ไปจะยิ่งขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยนำองค์ความรู้ งานวิจับและนวัตกรรมที่มีอยู่มาใช้ หวังว่าจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ขณะที่ ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายอย่างมาก สกสว.จึงจัดงานแถลงข่าวขึ้นเพื่อรายงานความคืบหน้าในการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย และแผนงานรองรับ รวมทั้งการสนับสนุนด้านนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ของกระทรวง อว. โดย สกสว. จะเป็นโซ่ข้อกลางประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนงานงานวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. เรื่อง “น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง ใน 10 จังหวัด” ในปีงบประมาณ 2568 โดยมีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยขับเคลื่อน
สำหรับสถานการณ์และการคาดการณ์สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปัจจุบัน รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ เลขานุการคณะทำงานการขับเคลื่อนการดำเนินการความร่วมมือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ และผู้อำนวยการแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุว่า จากการคาดการณ์รายฤดู แนวโน้มปีนี้จะมีฝนมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในพี้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ส่วนช่วงเดือนกรกฏาคม จะมีฝนมากในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ และในช่วงเดือนสิงหาคม ฝนมากในภาคกลางและใต้ และช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมในภาคใต้ นอกจากมาตรการรับมือทั้ง 9 ที่ สทนช.กำหนดแล้ว ทางชุมชนและท้องถิ่นในพื้นที่ควรเตรียมการดูแลภัยธรรมชาติอย่างมีข้อมูลและมีส่วนร่วม ขณะที่จังหวัดต้องมีแผนบูรณการเพื่อการจัดการน้ำอย่างมีเป้าหมาย โดย อว.จะช่วยสนับสนุนด้านวิชาการ ข้อมูล รวมทั้งวางแผนการจัดการน้ำในเขตเมืองและจัดทำแผนบูรณการน้ำของจังหวัด ให้ลดภัย ลดเสี่ยง พร้อมมีมาตราการสร้างรายได้เสริมโดยใช้นวัตกรรมเข้าช่วย ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะทำพิมพ์เขียวเพื่อชี้เป้าปัญหา และติดตามงานเพื่อนำเสนอคณะทำงานฯ ทุก 3 เดือน โดยมีโครงการนำร่อง เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตเมือง สร้างฝายขนาดเล็กและทำแปลงผักในช่วงฤดูแล้งเพื่อเป็นรายได้เสริม ประมาณ 100 โครงการ ในระยะเวลา 2 ปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี