กทม.แถลงปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จตุจักร ส่งต่อหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ตร.อายัดพื้นที่ตึก สตง.ถล่ม-กองซากที่บางซื่อ เก็บหลักฐานเพิ่ม ถึง 31 พ.ค. ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง
13 พฤษภาคม 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมแถลงข่าวการปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 มีรศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกลาง (ผบก.พฐก.) ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง เลขาฯ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมแถลงบริเวณ หน้า JJ Mall
ผอ.เขตจตุจักร ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ฯ ได้กล่าวปิดศูนย์ฯ จากการติดตามสถานการณ์และปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอาคาร สตง.ถล่ม มารวม 48 วัน ปัจจุบันได้เข้าสู่ภาวะปกติ โดยปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักรอย่างเป็นทางการ มีผลวันที่ 15 พ.ค.68 เวลา 16.00 น. ขอประชาสัมพันธ์ วันที่ 13-15 พ.ค. จะมีการขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตู้คอนเทนเนอร์และเครื่องจักรหนัก ออกจากพื้นที่ อาจไม่สะดวกในการสัญจรของพี่น้องประชาชนขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางและใช้ความระมัดระวัง พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนในการร่วมกันปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถในยามวิกฤต ทั้งอาสากู้ภัยหรือหน่วยงานทหารทุกเหล่าทัพ สุนัข k9 สาธารณูปโภคต่างๆ และประชาชนที่มีมีน้ำใจบริจาคสิ่งของ รวมทั้งเจเจมอลล์ที่อนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ ทุกหน่วยรับผิดชอบหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ที่ลืมไม่ได้คือพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงห่วงใย มีเมตตาใส่ใจผู้ปฏิบัติงานทั้งเรื่องความเป็นอยู่และอาหารการกิน ตั้งโรงครัวพระราชทานแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ทำให้พวกเรามีขวัญกำลังใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงรวมถึงกำลังใจที่ให้พวกเรา และขอบคุณทุกความเสียสละที่ทุกภาคส่วนมีให้ ท้ายที่สุดขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ขอคืนพื้นที่ให้ สตง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ออกหนังสือ 3 ฉบับ 1. ส่งไปที่หน่วยงานราชการและทหาร จะ ปฎิบัติหน้าที่ถึงวันที่ 15 พ.ค. 2. แจ้งไปที่ สตง. เจ้าของพื้นที่ว่าจะยุติและออกจากพื้นที่ วันที่ 15 พ.ค. เวลา 16.00 น. และ 3. ส่งไปถึง คณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้ง ที่มีกรมโยธาธิการและผังเมืองและกองพิสูจน์หลักฐานเจ้าพนักงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนจะมีคำสั่งอย่างไรก็แล้วแต่คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการต่อไป ในส่วนของ กทม.ภารกิจหลักหมดเท่านี้แต่เราก็ยังอยู่ หากหน่วยงานต้องการให้ช่วยเหลือจุดไหนเราก็พร้อมให้การสนับสนุน
“ภารกิจนี้เป็นความร่วมมือร่วมใจกันที่เข้มแข็ง ในแต่ละวันที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าพื้นที่ 600-800 คน มีด้านนอกอีกเกือย 500 รวมๆ วันละ 1,000-1,200 คน ยังไม่รวมที่อยู่ที่หน่วยงานต่างๆที่ซัพพอร์ตเข้ามา ในการรื้อถอนซากอาคารใช้เวลา 49-50 วัน ใกล้เคียงกับที่เราประกาศไว้ตั้งแต่วันที่เกิดแผ่นดินไหวว่าจะสามารถเคลียพื้นที่ได้ใน 1-2 เดือน เป็นภารกิจที่ใหญ่ต้องขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกัน ชีวิตก็ต้องก้าวเดินต่อไป เดี๋ยวก็ต้องมาเจอกันอีก ต้องมีปัญหาให้เรามาแก้ในอนาคตอีกแน่นอน“ ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
พล.ต.ต.วาที ผบก.พฐก. กล่าวในส่วนของพิสูจน์หลักฐานว่า พิสูจน์หลักฐานกลางรับผิดชอบ 2 ส่วน คือ 1. ศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลที่สถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันแรก มีศพเข้ามา 89 ราย แบ่งเป็นร่าง 80 และ 9 รายที่เป็นชิ้นส่วน ปัจจุบันพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลไปแล้ว 72 ราย แม้จะมีการยุตติการค้นหาร่างแล้วแต่ทางพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลยังคงตรวจสอบ DNA 200 กว่าชิ้นส่วนที่ส่งมา วันนี้ มีรายชื่ออยู่ในมือเพิ่มขึ้นมาอีก 14 ราย บ่ายสามโมงเย็นวันนี้จะปล่อยศพออกได้ ที่เหลืออีก 3 ศพ คือชิ้นส่วนที่ยังไม่สามารถจะเทียบกับใครได้ ยังมีข้อมูลจากญาติศพจากพม่าที่ยังไม่สามารถส่งเข้ามาได้ และที่ยังไม่สามารถระบุ DNA ได้ 2. วัตถุพยาน ในระหว่างการค้นหาร่างได้มีการเก็บวัตถุพยานเรียบร้อยแล้วทั้งในโซน A B C D ทั้งชิ้นส่วนของเหล็กและคอนกรีต โดยทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เก็ยเหล็กไป 366 เส้น คอนกรีต 237 แท่ง ทั้งหมดมี 603 รายการที่เป็นการเก็บตัวอย่างจากอาคารที่ถล่ม ในส่วนอาคารที่ไม่ถล่มได้เก็บแท่งคอนกรีตจากโถงทางเดิน โถงลิฟต์ ปล่องลิฟต์ บันไดหนีไฟ 41 ก้อน และจากบ่อลิฟต์อีก 40 ก้อน หลังจากที่มีการปิดศูนย์วันที่ 15 พ.ค. ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะอายัดสถานที่ทั้งสองแห่ง พื้นที่อาคารถล่มและกล่องซากปูนที่ไปกองไว้ในพื้นที่ตรงบางซื่อ จะมีการเก็บตัวอย่างเพิ่มในเวลาที่กำหนด พื้นที่ของ สตง. อายัดถึงวันที่ 31 พ.ค. ที่ กองปูนอายัดถึงวันที่ 20 พ.ค.
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวในส่วนการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รัยผลกระทบว่า จากที่มีประชาชนมาร้องขอความช่วยเหลือ ได้ปิดไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ส่วนใหญ่ในจำนวน 40,000 กว่าเคส จะเป็นเรื่องการขอค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน ส่วนที่เป็นค่าอื่นๆน้อยมากหลักสิบ ยอดการช่วยเหลือประชาชน ณ ขณะนี้อยู่ที่ 176 ล้านบาท สำหรับยอดการใช้น้ำมันในปฏิบัติการในส่วนรถเครนต่อวัน 3,000-6,000 กว่าลิตร/วัน เฉลี่ยใช้ค่าน้ำมันวันละ 2 แสนบาท ยังไม่รวมน้ำมันที่ใช้ในส่วนอื่นรวม 50 วันโดยประมาณ เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งยังคำนวนไม่ได้ ยังไม่นับรวมค่าซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ของผู้ที่มาร่วมภารกิจ มีการซ่อมทุกวันรายการซ่อมมีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมไปถึงเจ้าหน้าเอกชนหรืออาสาที่มาช่วยปฏิงานซึ่งทางเอกชนได้จ้างมาก็เป็นค่าใช้จ่าย และในส่วนผู้ประกอบการที่ในช่วง 4 วันแรกได้มีการปิดถนนทั้ง 2 ฝั่งมีประชาชรที่ประกอบการอยู่เดือดร้อน ซึ่งเราจะทำเรื่องขอไปทางกรมบัญชีกลาง ขอขยายวัตถุประสงค์เงินช่วยเหลือให้สามารถอุดหนุนไปถึงในส่วนนี้ด้วย ซึ่งจะทำตัวเลขนี้ ประมาณการหลัก 10 ล้าน ขึ้นไปให้พิจารณา ขอขยายทั้งวัตถุประสงค์และจำนวนเงินช่วยเหลือจากเดิมวงเงิน 200 ล้านบาท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี