สปสช. แจงผู้ป่วยโควิดที่รับบริการผ่านแอปพลิเคชันหาหมอออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย ชี้การดูแลเป็นไปตามคำแนะนำของกรมการแพทย์ ดูแลตามอาการ ขอให้มั่นใจว่าอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์และมีความปลอดภัยกับผู้ป่วยแน่นอน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิดในขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และมีประชาชนติดต่อรับการดูแลจากผู้ให้บริการ tele-medicine หรือบริการทางการแพทย์ทางไกลในเครือข่ายของ สปสช. เป็นจำนวนมาก โดยเป็นการหาหมอออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพ อย่างไรก็ดี ประชาชนส่วนหนึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิดในขั้นตอนการรักษาเพราะไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติต้านไวรัสแบบเดียวกัน ในประเด็นนี้ สปสช. ขอชี้แจงว่าผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาอื่นๆ ทุกราย แต่จะเป็นการดูแลตามอาการ ตามข้อบ่งชี้และไกด์ไลน์ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำหนด
“ในช่วงที่โควิดระบาดนั้น ประชาชนอาจเข้าใจว่าผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายต้องได้รับยาดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์ผ่านไปและองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มีมากขึ้น ทางกรมการแพทย์ได้ปรับปรุงแนวทางการดูแลผู้ป่วยให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ใหม่ๆ และมีการประกาศแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงวันที่ 18 เม.ย. 2566 ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า
สาระสำคัญในการรักษาโควิดนั้นกำหนดไว้ว่า 1.ในกรณี "ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี" ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก และไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง 2.กรณี "ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ" ให้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก และดูแลตามอาการ ตามดุลยพินิจของแพทย์ และ 3.ในกรณี "ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง" ยังไม่ต้องให้ oxygen
" ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง จะไม่มีการจ่ายยาต้านไวรัส เพราะส่วนมากหายได้เอง และผู้ให้บริการการแพทย์ทางไกลใช้แนวทางนี้ในการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ช่วงท้ายของการระบาดรอบที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ประชาชนบางส่วนอาจยังไม่เข้าใจและคิดว่าต้องได้ยาทุกคน ดังนั้นจึงขอชี้แจงทำความเข้าใจอีกครั้ง และขอให้มั่นใจว่าแม้ไม่ได้ยาต้านไวรัส แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และมีความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยแน่นอน ส่วนผู้ที่อาการรุนแรง หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าการดูแลผ่าน tele-medicine ไม่เพียงพอ ก็จะแนะนำให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลหรือนอนรักษาตัวแบบผู้ป่วยใน ซึ่งกรณีนี้ก็จะได้รับยาต้านไวรัสอยู่แล้ว" ทพ.อรรถพร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี