จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน
วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ที่บ้านทางยาง หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล พื้นที่ที่เงียบสงบถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยแรงบันดาลใจของ “ครูจิสน. มัจฉา” อดีตครูผู้เบนเข็มชีวิตมาสู่การทำเกษตรเต็มตัว สร้าง ฟาร์มเห็ดนางฟ้า จากก้อนเชื้อ 85 ก้อนแรกในหม้อนึ่งลูกทุ่ง สู่วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตก้อนเห็ดมากถึง 7,000 ก้อนต่อรอบ ก่อเกิดรายได้และการจ้างงานให้ชุมชนในทุกฤดูกาล
ครูจิสน มัจฉา ประธานกลุ่มทางยางบ้านเห็ด บอกว่า อยากหาทางเลือกให้ครอบครัวมีรายได้เสริม เห็นเห็ดนางฟ้าก็รู้สึกว่าใช่ เริ่มทำจากของเล็ก ๆ ที่เราชอบ พอทำจริง ๆ มันกลายเป็นรายได้หลักเลยค่ะ สาเหตุที่เลือกเห็ดนางฟ้าเพราะสามารถขายได้ทั้งก้อนเห็ด ดอกเห็ด และก้อนที่หมดอายุสามารถไปทำปุ๋ยได้
ครูจิสน เริ่มเพาะเห็ดจากความสนใจส่วนตัว ใช้หม้อนึ่งฟืนแบบพื้นบ้าน วันละ 6–8 ชั่วโมงต่อ 85 ก้อน ผ่านมาเกือบสิบปี เธอพัฒนาเทคนิคและเครื่องมือการผลิตจนกลายเป็นฟาร์มต้นแบบ ใช้หม้อนึ่งระบบไอน้ำที่รองรับได้มากถึง 780 ก้อนต่อครั้ง ลดการใช้ไม้ฟืน เพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ทางยางบ้านเห็ด” อย่างเป็นทางการในปี 2560
ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันและประมงในพื้นที่ ที่หันมาปลูกเห็ดเสริมอาชีพ ด้วยการสนับสนุนจากนางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล และสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ กลุ่มมีการใช้นวัตกรรม ได้แก่ เครื่องผสม, เครื่องอัดก้อน, เตานึ่งระบบไอน้ำ ช่วยให้การผลิตก้อนเชื้อเห็ดรวดเร็ว มีมาตรฐาน และปลอดภัยยิ่งขึ้น
สินค้าหลักของกลุ่ม ได้แก่
• ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า (10 บาท/ก้อน) ผลิตปีละ 4–5 รอบ รวมกว่า 28,000 ก้อน
• ดอกเห็ดสด (60 บาท/กก.) ส่งตลาดละงู โรงเรียน และตัวแทนจำหน่าย
• ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น
• น้ำพริกเห็ดนางฟ้า
• เห็ดทอดกรอบรสลาบ
• เห็ดปาปิก้า และสูตรดั้งเดิม
ขายดีทั้งตลาดสดและออนไลน์ สร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 30,000 บาท (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ไม่รวมแปรรูปเห็ด
สำหรับ เห็ดก้อนเชื้อหนึ่งก้อนสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 5 เดือน เมื่อหมดอายุยังสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ในแปลงเกษตรของชุมชน
“สำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ ได้สนับสนุนกลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี การจัดการ การหาตลาด จนกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ได้เห็นว่า ถ้าเราพร้อมลงมือทำ เกษตรก็สร้างอาชีพที่มั่นคงได้จริง ๆ”
นายอารีย์ โส๊ะสันสะ เกษตรอำเภอท่าแพ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ ในอนาคตกลุ่มเตรียมขยายการเพาะเห็ดพันธุ์ใหม่ เช่น เห็ดมิลกี้ พร้อมวางระบบโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ สร้างแบรนด์ท้องถิ่น จดทะเบียนสินค้า และเพิ่มช่องทางตลาดในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
สำหรับเกษตรกรที่มองหาอาชีพเสริม เดี๋ยวนี้ก็จะมีพืชเป็นพืชเศรษฐกิจอยู่หลายๆ ตัวอย่างเช่นสละ , กาแฟ แล้วก็เห็ด เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย แล้วถ้าสามารถ ทำได้ตั้งแต่ขั้นตอนในการผลิตก้อนเอง และก็ในการเปิดออกจำหน่ายเองตรงนี้เขาจะมีกำไรค่อนข้างดี
ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมและศึกษาดูงานได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทางยางบ้านเห็ด เลขที่ 22 หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล 91150. เพจ: บ้านไร่ภูภัทร โทร. 087-091-6176
จากแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ของอดีตครูท้องถิ่น สู่วิสาหกิจชุมชนที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของคนบ้านทางยาง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี