กทม. เปิดเวที “Crisis Management 2025” แลกเปลี่ยน 8 เมืองใหญ่สู้ภัยพิบัติ สร้างระบบรับมือวิกฤตในอนาคต
วันที่ 22 พ.ค.68 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุม Crisis Management Conference 2025 โดยมีผู้นำเมืองเข้าร่วมจาก 8 เมือง ได้แก่ โตเกียว จาการ์ตา ไทเป นิวไทเป มนิลา โซล กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ ผู้บริหารจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน เขตหลักสี่
รศ. ทวิดา กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งสำคัญนี้ กรุงเทพมหานครเอง ในช่วงที่ผ่านมาได้เผชิญกับความท้าทายมากมาย จากภัยพิบัติทางธรรมชาติและวิกฤตทางสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีหลัง ๆ ที่ผ่านมา ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้สร้างความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กรุงเทพมหานครเองประสบกับสาธารณภัยที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศบ่อยครั้ง เช่น น้ำท่วมฉับพลันจากฝนตกหนัก คลื่นน้ำทะเลหนุนในพื้นที่ต่ำ คลื่นความร้อนจัด ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งกลายเป็นปัญหาสุขภาพสาธารณะที่ร้ายแรงในหลายพื้นที่ เหตุการณ์เหล่านี้เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวและเสริมสร้างความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงภัยพิบัติที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ แรงสั่นสะเทือนส่งผล ถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยเหตุการณ์นี้ทำให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งกำลังก่อสร้างพังถล่มลงมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเหตุการณ์นี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีการตรวจสอบและเสริมความแข็งแรงของอาคารอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอาคารเก่าที่อาจไม่ได้ออกแบบให้รองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว การบริหารจัดการสาธารณภัยจากเหตุการณ์เหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น ในการวางระบบการเตรียมพร้อมและรับมือที่เป็นระบบและเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงความสำคัญของการวิเคราะห์และถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยและการตอบสนองต่อภัยพิบัติในอนาคต
ด้วยความร่วมมือของสมาชิก The Network และการแบ่งปันความรู้ระหว่างเมือง เราสามารถเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้แนวทางการจัดการภัยพิบัติ และวางแผนพัฒนาเมืองให้มีความยืดหยุ่นและปลอดภัยอย่างยั่งยืน การประชุมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และหวังว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดาได้ร่วม บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ความท้าทายการจัดการภาวะวิกฤติในเขตเมืองของมหานครและเมืองใหญ่” โดยได้เล่าถึงการจัดการภัยพิบัติในเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะเครื่องมือและกำลังคนของกรุงเทพมหานครมีไม่เพียงพอ อีกทั้งความช่วยเหลือจากวิศวกรอาสาที่ช่วยสำรวจอาคาร และรอยร้าวต่างๆ ตามอาคารบ้านเรือนของประชาชนที่แจ้งขอความช่วยเหลือเข้ามาในระบบ traffy fondue ทำให้การทำงานของกรุงเทพมหานครสามารถเข้าถึงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือได้โดยง่ายจากภาพถ่ายรอยร้าวที่ส่ง และตำแหน่งที่แจ้งเข้ามา
037
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี