‘สมาคมตำรวจฯ-สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ-ชมรมพนักงานสอบสวน’ผนึกกำลังค้านร่าง พ.ร.บ. ป.วิ.อาญา พรรคประชาชน หวั่นแทรกแซงสอบสวน-ข้อมูลรั่ว-คดีล่าช้า ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 23 พ.ค.68 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ พร้อมด้วย พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ และ พล.ต.อ.วุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชน
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนการสอบสวน โดยให้อำนาจพนักงานอัยการกำกับ ควบคุม และมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ ของการสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงการมีอำนาจให้ความเห็นชอบก่อนออกหมายเรียกหรือก่อนการขอหมายจับ ขัง ค้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ทำความเห็นแย้งแทนตำรวจ
สมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ได้พิจารณาร่างกฎหมายนี้อย่างรอบคอบแล้ว และมีความเห็นว่าไม่สมควรให้ผ่านความเห็นชอบด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้
1.ประเด็นการแจ้งเหตุต่อฝ่ายปกครองและอัยการเมื่อพบการกระทำผิด ตามมาตรา 17 (ใหม่) ของร่าง พ.ร.บ.ฯ กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งเหตุต่อฝ่ายปกครองและอัยการทันทีเมื่อพบการกระทำผิด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ข้อมูลในคดีสำคัญรั่วไหล ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพยาน ผู้เสียหาย หรือแม้แต่ชื่อเสียงของผู้ต้องหาที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดในชั้นศาล
การสืบสวนควรเป็นไปเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันเหตุ หรือพิสูจน์ทราบเหตุ โดยไม่มีผลกระทบต่อบุคคลทั่วไป และควรดำเนินการอย่างสงบเพื่อประสิทธิภาพในการติดตามจับกุมผู้กระทำผิด การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องรายงานการสืบสวนต่อพนักงานอัยการในลักษณะ “ขออนุญาต” หรือ “ขออนุมัติ” จะเป็นการสกัดกั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ปฏิบัติ ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ แต่กลับเป็นผลประโยชน์ต่อผู้กระทำความผิดมากกว่า
2.ประเด็นการออกหมายเรียก หมายจับ หมายขัง หมายค้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการก่อน การให้อำนาจอัยการเห็นชอบก่อนการออกหมายเรียกตามมาตรา 53/1 และก่อนการขอหมายจับ ขัง ค้น ตามมาตรา 57 (ใหม่) จะทำให้กระบวนการสอบสวนซ้ำซ้อนและล่าช้าเกินความจำเป็น ทั้งที่ปัจจุบันมีการกลั่นกรองจากศาลอยู่แล้ว การออกหมายอาญาตามกฎหมายปัจจุบันให้อำนาจพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และพนักงานฝ่ายปกครองยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นอิสระ โดยศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจออกคำสั่งอนุมัติหมายอาญาเพื่อให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนในชั้น “ก่อนฟ้อง” เป็นไปด้วยความต่อเนื่อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
การเพิ่มขั้นตอนโดยให้พนักงานสอบสวนต้องขอคำรับรองจากพนักงานอัยการก่อนยื่นคำร้องต่อศาล จะเพิ่มภาระและทำให้คดีของประชาชนล่าช้าโดยไม่จำเป็น การออกหมายเรียกผู้ต้องหาเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงเท่านั้น ไม่ใช่การตัดสินความผิด การกำหนดให้ต้องมีความเห็นชอบจากอัยการก่อนจึงไม่จำเป็นและเป็นการถ่วงเวลา
3.ประเด็นการให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบและกำกับการสืบสวนสอบสวนและพยานหลักฐานได้ทันทีในคดีสำคัญ รวมถึงการให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการนั้น ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 (2) ที่บัญญัติให้ “ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม”
ซึ่งเป็นการยืนยันหลัก “การแยกอำนาจสอบสวนออกจากอำนาจฟ้องร้อง” เพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุล และคานอำนาจกัน การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้พนักงานอัยการและฝ่ายปกครองเข้ามามีบทบาทในลักษณะ “ควบคุม” หรือ “สั่งการ” ผ่านกระบวนการรายงานและขออนุญาต จะเป็นการทำลายหลักการดังกล่าว ทำให้การตรวจสอบ ถ่วงดุล และคานอำนาจด้อยประสิทธิภาพ ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีอรรถคดี และอาจส่งผลให้การดำเนินคดีอาญาขาดประสิทธิภาพ นำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม
4.ประเด็นการให้เปิดเผยพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนระหว่างสืบสวนสอบสวน โดยกำหนดให้เปิดเผยและ/หรือแจ้งพยานหลักฐานที่มีแก่ผู้ต้องหาทราบ การค้นหาความจริงในชั้นศาลใช้หลักการที่พยานคนที่จะเบิกความภายหลังไม่ควรรับรู้ข้อเท็จจริงจากพยานคนที่จะเบิกความก่อน เช่นเดียวกับการสืบสวนสอบสวนที่กระทำเป็นการลับย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่า การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจและ/หรือพนักงานสอบสวนต้อง “เปิดเผย” พยานหลักฐานและ/หรือผลการสืบสวนสอบสวนให้ผู้ต้องหาทราบ
ย่อมทำให้ผู้ต้องหา “รู้” ช่องทางในการยุ่งเหยิงและ/หรือทำลายพยานหลักฐาน ทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมอาชญากรรมลดลง นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลหลักฐานยังหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายและ/หรือพยาน ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติรับรองและกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในสำนวนการสืบสวนสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ร่างกฎหมายนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี