‘ผู้ว่าฯน่าน’ยันตลาดนัดชายแดน‘ห้วยโก๋น’ค้าขายทั่วไป ‘ซากสัตว์ป่า’ถูกลอบนำเข้า
26 พฤษภาคม 2568 จากกรณีเจ้าหน้าที่นำโดย นายกิตติพงษ์ วรรณา ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร , นายสัมพันธ์ ใจสุดา ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า และนายชัยชาญ ศรียงค์ หัวหน้าสำนักงานสนับสนุนป้องกันและปราบปรามที่ 3 (ภาคเหนือ) พร้อมเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานร่วมปฏิบัติการภายใต้คำสั่งของนายกรัณย์พล แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) เข้าตรวจยึดซากสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าคุ้มครองที่ยังมีชีวิต ซึ่งถูกลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในตลาดนัดชายแดนบ้านห้วยโก๋น ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2568
ผลการตรวจยึดพบซากเม่น 10.10 กิโลกรัม (กก.) ซากเก้ง 15.30 กก. ซากตะกวด 1.20 กก. และตะกวดมีชีวิตอีก 23 ตัว น้ำหนักรวม 38.80 กก. รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 35,750 บาท โดยต่อมาได้เกิดกระแสสังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับชะตากรรมของของกลางทั้งหมดนั้น
ล่าสุดนายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน (ผวจ.น่าน) ออกมาชี้แจง ว่า สัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์เหล่านี้เป็นของที่ลักลอบนำเข้ามาจากฝั่ง สปป.ลาว ผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยไม่ได้ผ่านจุดผ่านแดนปกติ ซึ่ง สปป.ลาว ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสัตว์ป่าเช่นเดียวกับประเทศไทย
สำหรับของกลาง เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสม โดยซากสัตว์จะถูกทำลายด้วยการเผาหรือฝังกลบภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่จะถูกตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์ก่อนนำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติตามแนวทางของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ผวจ.น่าน กล่าวย้ำว่า การมีไว้ซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าที่มีชีวิต รวมถึงการซื้อเพื่อบริโภคหรือใช้ในวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายของไทย และจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
“ตลาดชายแดนห้วยโก๋นไม่ได้เป็นตลาดค้าสัตว์ป่า แต่เป็นตลาดค้าทั่วไปของประชาชนในพื้นที่ จึงไม่มีผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจหรือการค้าชายแดนแต่อย่างใด” ผวจ.น่าน กล่าว
ขณะที่ สบอ.13 (แพร่) ได้ประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนตั้งแต่ต้นปี 2568 รวมถึงติดตั้งป้ายไวนิลเตือนภัยบริเวณจุดผ่านแดน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบเช่นนี้ซ้ำอีกในอนาคต
ทั้งนี้ การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการล่าสัตว์ป่ามาขาย เป็นเหตุให้สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองบางชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
การกระทำที่ผิดกฎหมาย ได้แก่
• การค้าสัตว์ป่าสงวน/คุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่า โทษตาม มาตรา 29 จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• การมีไว้ในครอบครอง รวมถึงผู้สั่งอาหารที่มีเนื้อสัตว์ป่าคุ้มครอง โทษตาม มาตรา 17 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ “ซากสัตว์ป่า” ตามนิยามในกฎหมาย หมายถึง เนื้อหรือส่วนของสัตว์ป่าที่ตายแล้ว ไม่ว่าจะผ่านการปรุงอาหาร เช่น ปิ้ง ต้ม ย่าง หรือแปรรูปในรูปแบบใดก็ตาม ยังถือเป็น “ซากสัตว์ป่า” และผิดกฎหมายเช่นเดิม หากพบเห็นการกระทำผิด แจ้งสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี