กทม. จับมือ Google ทำโครงการ Project Green Light ใช้ AI แก้ปัญหารถติด ช่วยลดมลพิษ PM2.5
วันที่ 27 พ.ค.68 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงโครงการ Project Green Light ว่า “AI จะช่วยให้การจัดการจราจรแม่นยำขึ้น และช่วยแก้ปัญหารถติดได้อย่างเป็นรูปธรรม กทม. เดินหน้าจัดการปัญหาจราจรควบคู่ไปกับการลดมลพิษ PM2.5 เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ เดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็น Smart City แห่งโลกอนาคต”
โดยโครงการนี้เป็นการนำข้อมูลแผนที่และเทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์การเดินทางของประชาชนเพื่อนำมาปรับสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสมกับสภาพการจราจรในแต่ละแยก วิเคราะห์ว่าควรปรับลดหรือเพิ่มเวลาไฟเขียว-ไฟแดงให้เหมาะสมต่อปริมาณรถอย่างไร เพื่อให้ให้การจราจรคล่องตัวขึ้น โดยวิศวกรด้านการจราจรจะนำข้อเสนอจากระบบ AI ไปประเมินความปลอดภัยและความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์จริง เมื่อมีการนำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติแล้ว จะวัดผลกระทบต่อรูปแบบการจราจรและส่งการวิเคราะห์นี้ให้กรุงเทพฯ เพื่อติดตามผลและปรับปรุงต่อเนื่องในอนาคตต่อไป
โครงการ Project Green Light เป็นการร่วมมือกับ Google ในการใช้ AI + ข้อมูลจาก Google Maps วิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่แบบเรียลไทม์ โดยกรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 18 เมืองจากทั่วโลกที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการจัดการปัญหาจราจรอย่างมีประสิทธิภาพและยังช่วยลดมลพิษบนท้องถนน นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการจัดการจราจรในกรุงเทพฯ ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมก้าวสู่อนาคตที่ “เดินทางดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับบริษัท Google ดำเนินโครงการ Project Green Light หรือ “โครงการไฟเขียว” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการจราจรบริเวณทางแยกด้วยสัญญาณไฟจราจร และช่วยลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 จากภาคการคมนาคมและขนส่ง เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดย Google ใช้เทคโนโลยี Big Data และปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่แบบเรียลไทม์ เพื่อแนะนำจังหวะการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสมกับสภาพการจราจรในแต่ละช่วงเวลา ส่งผลให้สามารถลดการหยุดรถบนถนนได้ถึง 30% ลดปัญหาการจราจรติดขัดแบบหยุด-เคลื่อน และเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทาง ขณะนี้มีการปรับจังหวะสัญญาณไฟแล้วกว่า 50 แยกทั่วกรุงเทพฯ คาดว่าการดำเนินโครงการจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 10%
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้นำข้อมูล Probe Data ซึ่งได้จากอุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนที่ เช่น GPS ในโทรศัพท์มือถือ มาใช้ในการวิเคราะห์ต้นทาง–ปลายทางของการเดินทาง (Origin–Destination หรือ O/D) เพื่อประยุกต์ใช้ในการจัดการปัญหาจราจร เช่น การปรับรูปแบบสัญญาณไฟจราจร หรือการบริหารช่องทางจราจรบริเวณแยกขนาดใหญ่ โดยได้เริ่มทดลองใช้แล้วในพื้นที่แยกราชเทวี แยกพระราม 9 และสะพานตากสิน
“กทม.ตั้งใจใช้เทคโนโลยีอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้คล่องตัวขึ้นในชีวิตประจำวัน เรานำข้อมูล Big Data และ AI มาช่วยปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรจริง หากยังพบปัญหาในพื้นที่ใด ขอให้แจ้งผ่าน Traffy Fondue เพื่อให้เราดำเนินการแก้ไขอย่างตรงจุด” โฆษกกทม. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี