สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ประกาศความพร้อมก้าวสู่ยุคใหม่ของการประเมินคุณภาพการศึกษา โดยมุ่งพัฒนาผู้ประเมินภายนอก ให้มีสมรรถนะที่ทันสมัย ผ่านกระบวนการ “รีสกิล” และ “อัปสกิล” อย่างเข้มข้น เพื่อเสริมบทบาทสำคัญ ในการเป็น “ผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพ” ที่สมดุลและมีพลัง พร้อมร่วมขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง
ศ.ดร.องอาจ นัยพัฒน์ ผู้อำนวยการ สมศ. เปิดเผยว่า ผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. นับเป็น "กุญแจแห่งความสำเร็จ" ของกระบวนการประกันคุณภาพภายนอก (EQA) ที่ไม่เพียงสะท้อนสถานะคุณภาพของสถานศึกษาอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังต้องสามารถจุดประกายและสนับสนุนการพัฒนาสถานศึกษาได้อย่างยั่งยืน
ทิศทางการพัฒนาผู้ประเมินภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สมศ. มุ่งเน้น 2 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) ด้วยการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นใหม่ เช่น ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การใช้ AI เข้ามาช่วยในขั้นตอนการประเมินคุณภาพ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การสรุปผลการประกันคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา และทักษะการประเมินคุณภาพภายนอกแบบเสริมพลัง คือการที่ผู้ประเมินภายนอกต้องส่งเสริม และให้คำปรึกษากับสถานศึกษาในการนำผลการประกันคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงในยุคที่เต็มไปด้วยความผันผวนได้อย่างเหมาะสม และ 2.การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มี (Upskill) ด้วยการเสริมทักษะเดิมของผู้ประเมินภายนอกให้เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น เช่น ทักษะการวัดผลที่แม่นยำ มีความเที่ยงตรง ที่ประกอบด้วย ความเที่ยงตรงของเนื้อหา สามารถวัดเนื้อหาที่ต้องการวัดได้ครบถ้วน ตามจุดประสงค์ ความเที่ยงตรงของโครงสร้าง หมายถึงสามารถวัดพฤติกรรมและสมรรถภาพด้านต่างๆ ได้ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนด ความเที่ยงตรงเชิงเกณฑ์สัมพันธ์ เป็นการตรวจสอบ สรุปอ้างอิงสมรรถนะการดำเนินงานว่าได้ผลสอดคล้องกับการดำเนินงานเพียงใด ควบคู่ไปกับความเชื่อมั่น หมายถึงความคงเส้นคงวาของผลการประกันคุณภาพภายนอก ที่สามารถเชื่อถือได้ในระดับสูงจนสามารถรับประกันได้ว่า หากมีการประกันคุณภาพภายนอกซ้ำอีกครั้งก็จะได้ผลใกล้เคียงและสอดคล้องกับผลการประกันคุณภาพภายนอกเดิม
“วันนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการคิดขั้นสูงและนวัตกรรมเพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาในประเทศของตน ดังนั้น สมศ. ต้องทำหน้าที่มากกว่าการประเมินเพื่อรับรอง แต่ต้องเป็น “พลังหนุน” ให้สถานศึกษามุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพอย่างแท้จริง ผู้ประเมินภายนอกจึงต้องมีทักษะที่หลากหลาย เป็นทั้งนักวิเคราะห์ และผู้นำเสนอแนวทางพัฒนาสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสมกับสถานศึกษาแต่ละประเภท และบริบทของสถานศึกษา ด้วยบทบาทของผู้ประเมินภายนอกในการเป็น “ผู้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพ” ที่สมดุลและมีพลัง เพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ สมศ. มีแผนจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้ประเมินภายนอกทั่วประเทศ ร่วมกับการอบรมเชิงปฏิบัติการในระดับภูมิภาค เพื่อสร้าง "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" สำหรับผู้ประเมินภายนอกและสถานศึกษาในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล” ศ.ดร.องอาจ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี