“ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 10–17% ของประชากรโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนในไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 11 ล้านคน หรือ 17.5% ส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่ 1–3 โดยมี 5% อยู่ในระยะ 4–5 ที่ต้องบำบัดทดแทนไตราว 1 แสนคน แบ่งเป็นฟอกเลือด 85,000 คน และล้างไตทางหน้าท้อง 17,000 คน นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว งบดูแลผู้ป่วยไตยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 900 ล้านบาทเมื่อ 18 ปีก่อน เป็น 18,000 ล้านบาทในปัจจุบัน”
นพ.กมล โฆษิตรังสิกุล อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช กล่าวบรรยายหัวข้อ “ความรู้โรคไตสำหรับประชาชน” ในรายการ “1 เดือน 1 ความรู้” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยแพร่ผ่าน Facebook Live สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจาก “โรคเบาหวาน” ร้อยละ 46 และ “ความดันโลหิตสูง” ร้อยละ 40 “ซึ่งเมื่อป่วยแล้ว ความเสี่ยงเป็นโรคไตก็จะสูงไปด้วย” และหากมีภาวะโปรตีนรั่ว ก็จะทำให้ไตเสื่อมเร็วมากขึ้น
ดังนั้นจึงต้องควบคุมความดันโลหิต และลดการรั่วของโปรตีน ซึ่งการพบโปรตีนในปัสสาวะเกิดฟอง บ่งชี้ว่าไตมีปัญหาในการกรองของเสีย มีวิธีตรวจด้วยแถบจุ่มดูว่ามีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะหรือไม่ หากมีปริมาณโปรตีนมากกว่า 300 มก. ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ 5 เท่า และถ้าค่า eGFR ต่ำ อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 เท่าของคนปกติ
“ในการวินิจฉัยโรคไต แพทย์จะวินิจฉัยโดยตรวจปัสสาวะและตรวจเลือด หากค่าตรวจ 2 ส่วนนี้มีปัญหาต่อเนื่องเกิน 3 เดือน จะถือว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระยะ โดยระยะที่ 5 ค่าการทำงานของไตจะต่ำกว่า 15% อย่างไรก็ดี อยากให้พิจารณาผลตรวจปัสสาวะเพิ่มด้วย เพราะหากค่าโปรตีนรั่วในปัสสาวะมากกว่า 300 มก. แม้ค่าไตจะยังดูดี แต่ก็มีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นสัญญาณว่าเนื้อเยื่อแผ่นกรองของเสียในไตมีปัญหา” นพ.กมล ระบุ
นพ.กมล กล่าวต่อไปว่า การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคไต จะช่วยให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรม ควบคุมอาการโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งมีผลให้ชะลอความเสื่อมของไตได้ดีกว่าไม่ได้รับการวินิจฉัย อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่า “ในไทยมีผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคได้เพียงร้อยละ 11 และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้เพียงร้อยละ 16” ดังนั้นหากไม่ทำอะไร ผู้ป่วยโรคไตจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ซึ่งหลักการสำคัญคือ หมอและผู้ป่วยต้องเป็นทีมเดียวกันในการต่อสู้กับโรคไต และผู้ป่วยต้องไม่เปิดประตูเมืองให้ข้าศึกเข้า และ “ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม” อย่ารอให้โรคแสดงอาการ เพราะโรคไตระยะแรกจะไม่แสดงอาการอะไร แต่หากมีอาการแสดง นั่นรุนแรงแล้ว และมักจบด้วยตาบอด กล้ามเนื้อหัวใจตาย เส้นเลือดหัวใจอุดตัน เส้นเลือดสมองตีบ ดังนั้น ป้องกันโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีอุปกรณ์ตรวจค่าความดันโลหิตเป็นของตัวเองทุกคน โดยปัจจุบันอุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาเพียง 200–2,000 บาท การมีเครื่องวัดความดันของตนเองจะช่วยติดตามค่าความดันโลหิตที่บ้านได้ทุกวัน ซึ่งความดันปกติอยู่ที่ 80–120 หากมีค่าสูงถึง 90–140 เป็นค่าบ่งชี้ที่เริ่มมีความเสี่ยงแล้ว เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรตรวจค่าน้ำตาลสะสมในเลือดปีละ 2 ครั้ง โดยทั่วไปค่าน้ำตาลขณะอดอาหารตอนเช้าไม่ควรเกิน 100 มก. ค่าน้ำตาลหลังอาหารไม่ควรเกิน 140 มก. และค่าน้ำตาลสะสมต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่จะดีกว่าหากมีเครื่องตรวจค่าน้ำตาลเป็นของตนเอง เพราะจะช่วยหาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำตาลในเลือดกับน้ำตาลสะสมได้ รู้ค่าน้ำตาลหลังอาหาร และถ้าค่าน้ำตาลสูง ก็จะได้ปรับพฤติกรรม ลดอาหารที่มีน้ำตาลสูงได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรตรวจเช็คค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ถ้าเป็นไขมันในเลือด ควรรู้ค่า LDL ของตัวเอง ถ้าเป็นโรคไตแล้ว ก็ควรรู้ค่า Creatinine หรือค่า eGFR เพราะถ้าผู้ป่วยรู้ค่าเหล่านี้ จะรู้ว่าต้องดูแลตนเองอย่างไรให้ปลอดภัย
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการปรับพฤติกรรมเพื่อชะลอความเสื่อมของไตแล้ว ถึงจุดหนึ่งที่ต้องบำบัดทดแทนไต สิ่งสำคัญคือ การวางแผนการบำบัดทดแทนไตไว้ล่วงหน้า ให้ความรู้ผู้ป่วยถึงข้อดี - ข้อด้อยของการบำบัดทดแทนไตวิธีต่างๆ และให้ตัดสินใจร่วมกับแพทย์ว่าวิธีใดเหมาะกับตัวเองมากที่สุด อย่างที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช มีคลินิกให้คำปรึกษาการบำบัดทดแทนไต เพื่อแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการบำบัดทดแทนไต ให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์จากผู้ที่บำบัดทดแทนไตอยู่แล้ว ทำให้ผู้ป่วยตระหนักรู้ และปรับพฤติกรรมชะลอไตเสื่อม และมีการวางแผนตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตของตัวเอง
“ในการบำบัดทดแทนไต วิธีปลูกถ่ายไตทำให้มีอายุยืนที่สุด ส่วนการฟอกเลือดและล้างไตทางหน้าท้อง อัตราการเสียชีวิตไม่ต่างกัน คือ 4 ปีแรกอยู่ที่ 80% แต่โดยรวมแล้ว กว่าครึ่งของค่ารักษาพยาบาลในระบบ ถูกใช้ไปกับสิ่งที่ป้องกันได้ แค่คุมเบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเลือดได้ดี ร่วมมือกับแพทย์ดูแลตัวเอง ก็ช่วยป้องกันโรคที่ต้องใช้เงินเยอะๆ ปีละหลายหมื่นล้านบาทได้” อายุรแพทย์โรคไต รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช กล่าวทิ้งท้าย
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี