‘กมธ.ทรัพยากรฯ สว.’ บินลัดฟ้าแดนกังหันลมศึกษาดูงานระบบบริหารจัดการน้ำ หวังดึงองค์ความรู้กระตุ้น ‘รัฐบาล’ ยกระดับรับมืออุทกภัยยั่งยืน
2 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธาน กมธ.ฯ และ นายจำลอง อนันตสุข สว. ในฐานะเลขานุการ กมธ.ฯ ได้เดินทางเยือนเนเธอร์แลนด์ เพื่อศึกษาดูงานและหารือทวิภาคีด้านการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากประเทศผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำระดับโลก มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
โดยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะฯ ได้เข้าประชุมและศึกษาดูงาน ณ ศูนย์การป้องกันน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเดลต้า เวิร์คส (Delta Works) โครงการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล คณะกรรมาธิการฯ ได้เยี่ยมชม เขื่อน Maeslantkering ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางวิศวกรรมการป้องกันพายุขนาดใหญ่ ด้วยระบบปิดกั้นอัตโนมัติที่แม่นยำและรวดเร็ว การศึกษาในส่วนนี้มุ่งเน้นการทำความเข้าใจถึงการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ การบูรณาการเทคโนโลยีและข้อมูลในการพยากรณ์และบริหารจัดการน้ำ รวมถึงนวัตกรรมทางวิศวกรรมที่ใช้ในการก่อสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่
ต่อมาในช่วงบ่าย กมธ.ฯ ได้เดินทางไปยังทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก โดยได้รับเกียรติจาก นายอสิ ม้ามณี เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับนโยบายและการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยชาวไทยจากเดลต้าเรส ได้แก่ นางลัดดาภรณ์ เรืองปาน และ นายปีเตอร์ แจนเซ่น รวมถึงประเด็นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจาก นางสาวภัทรพร เตโจ นักศึกษาปริญญาโทด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์
นายชีวะภาพ กล่าวว่า ต้องขอบคุณเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ที่ได้ประสานงาน ซึ่งเป็นความตั้งใจของคณะกรรมาธิการฯ ในการมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อมาดูความสำเร็จของเนเธอร์แลนด์ในการป้องกันน้ำท่วม หลังเคยเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 1,800 คน นับเป็นแรงผลักดันสำคัญให้คณะฯ เดินทางมาศึกษาเรียนรู้ การศึกษาดูงานครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่คณะกรรมาธิการฯ หวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดการบูรณาการแนวคิดและการปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย เพื่อรับมือกับความท้าทายจากภัยธรรมชาติได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
“สิ่งสำคัญที่ได้จากการดูงานครั้งนี้ คือการปรับตัวให้อยู่กับน้ำ มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบจนสามารถทำการเกษตรในพื้นที่ต่ำได้ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการรักษาความเป็นคูคลองไว้เพื่อใช้เป็นแก้มลิงในการเก็บกักน้ำ และการปรับตัวให้อยู่กับน้ำให้ได้ เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการให้ความสนใจ และหวังที่จะนำโมเดลนี้ไปกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้แก่ประชาชนชาวไทย และจะผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในอนาคต” ประธาน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าว
ด้านนายจำลอง กล่าวว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้มุ่งเน้นการเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการเดลต้า เวิร์คส ที่ประสบความสำเร็จในการปกป้องเนเธอร์แลนด์จากการถูกน้ำท่วมมานานหลายทศวรรษ คณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ การบูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีในการพยากรณ์และบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการนำนวัตกรรมทางวิศวกรรมขั้นสูงมาใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่
“การเยี่ยมชมเขื่อน Maeslantkering คณะกรรมาธิการฯ ได้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมของเนเธอร์แลนด์ เขื่อนแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมที่สามารถปิดกั้นพายุขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยระบบอัตโนมัติ คณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาถึงกระบวนการออกแบบ การก่อสร้าง การบำรุงรักษา รวมถึงระบบความปลอดภัยที่ซับซ้อนของเขื่อน เพื่อเป็นข้อมูลในการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐของไทยให้มีการพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย” นายจำลอง กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี