จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลังผนึกความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาหลักสูตรสหวิทยาการระดับปริญญาโทด้านการจัดการภาษี (หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี) เพื่อยกระดับการศึกษาหลักสูตรสหสาขาวิชา พัฒนาบุคลากรคุณภาพของประเทศเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านการจัดการภาษีที่มีประสิทธิภาพ โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ เข้าร่วมงาน
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลัง เป็นการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและนโยบายของภาครัฐเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นหลักสูตรสหสาขาวิชาด้านการจัดการภาษีหลักสูตรแรกของประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนระบบภาษีของประเทศให้ทันสมัย โปร่งใส และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในยุคดิจิทัล หลักสูตรนี้จะเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างความรู้ทางวิชาการกับการปฏิบัติจริง และเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมด้านการจัดการภาษีที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มหาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะเป็นบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านภาษีและบริบทที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ซึ่งไม่ว่าจะปฏิบัติงานอยู่ในภาครัฐหรือภาศเอกชน จะถือเป็นกลุ่มบุคคลคุณภาพที่จะต่อยออดส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งมีนโยบายในการสนับสนุนบุคลากรของ กค.ให้ได้รับการพัฒนาทางการศึกษาในหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ต่อภารกิจของหน่วยงาน ผ่านการให้ทุนการศึกษามากกว่า 30 ทุน เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการที่มีความมุ่งมั่น และมีผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ ให้ได้รับการพัฒนาต่อยอด และนำความรู้ที่ได้จากหลักสูตรนี้มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาภารกิจของกระทรวงการคลังให้เป็นเสาหลักที่มั่นคงแข็งแรง และขับเคลื่อนโยบายทางการคลังและเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวถึงความโดดเด่นของหลักสูตรนี้ว่า เป็นหลักสูตรสหสาขาวิชาที่มีการผสานความร่วมมือจาก 5 คณะของจุฬาฯ ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชานี้จะทำให้ผู้เรียนได้รับองค์ความรู้ มุมมองที่หลากหลายและครอบคลุม สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หลักสูตรได้รับการออกแบบให้มีแผนการเรียน 2 แผน คือ แผน 1 แบบวิชาการ (ศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์) มุ่งเน้นการสร้างผู้นำทางวิชาการด้านการจัดการภาษี ผู้ที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบภาษี ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับยุคดิจิทัล และแผน 2 แบบวิชาชีพ (ศึกษารายวิชาและรายวิชาค้นคว้าอิสระ) มุ่งเน้นการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติ สามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงเพื่อยกระดับการจัดการภาษีให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีจำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 36 หน่วยกิต กำหนดเปิดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2568 ในรูปแบบภาคนอกเวลาราชการ โดยจัดการเรียนการสอนวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยรูปแบบการเรียนแบบผสมผสานที่ให้ความยืดหยุ่นสูงสุดแก่ผู้เรียน
สำหรับผู้ที่สนใจจะสมัครเข้าศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี (หลักสูตรสหสาขาวิชา) สามารถติดตามดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.grad.chula.ac.th
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี