‘บิ๊กสพฐ.‘สั่งสพท.-โรงเรียน รับมือพายุ ’วิภา‘ สพฐ.เตรียมประกาศรายการที่ครูไม่ต้องรายงาน 52 รายการ เพื่อลดภาระครู
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้ง 27/2568 ว่า ตนได้เน้นย้ำเรื่องการติดตามสถานการณ์การเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนกำลังแรง “วิภา” ที่มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าที่บริเวณ จังหวัดน่าน เชียงราย อุตรดิตถ์ จึงได้กำชับให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาและทุกโรงเรียนที่คาดว่าพายุจะผ่าน ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ จัดทำแผนเผชิญเหตุ และเตรียมความพร้อมการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ครู โรงเรียน ตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัยของ สพฐ. และให้เตรียมเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน สิ่งของ เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่ออุปกรณ์การเรียน หนังสือห้องสมุด ให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ในชั้นที่สูง โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ใกล้ทางน้ำให้รีบเคลื่อนย้าย และโรงเรียนที่มีพายุผ่านหรือเส้นทางน้ำผ่านให้สั่งปิดโรงเรียนได้ทันที รวมทั้งได้เน้นย้ำไปว่าให้ดูแลนักเรียนครูและบุคลากรให้ได้รับความปลอดภัยทุกคน
นอกจากนี้ ให้มีการตรวจสอบบริเวณรอบๆโรงเรียนหากมีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้รีบตัดแต่งต้นไม้ เพื่อไม่ให้ต้านลม เพราะเท่าที่ทราบพายุวิภาจะมาทั้งฝนทั้งรม ส่วนโรงเรียนใดที่มีน้ำท่วมขังให้รีบประสานการไฟฟ้าเพื่อตัดหม้อแปลงไฟฟ้า หรือตัดกระแสไฟฟ้าทันที เพื่อป้องกันปัญหาไฟดูด และถ้ามีน้ำไหลเข้าไปในโรงเรียนให้ปิดโรงเรียนและไม่ให้ครูนักเรียนเข้าไปภายในโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและครู และอาจจะต้องประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดให้เข้ามาดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุและสถานศึกษาในพื้นที่ และกำชับให้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งดูแลโรงเรียนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเตรียมเรื่องอาหารประทังชีวิตให้เด็กในพื้นที่น้ำท่วม มอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และจัดเตรียมที่พักพิงหากจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายเด็ก
และให้มีแผนเผชิญเหตุ หากเกิดน้ำท่วมจะต้องตัดระบบไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ให้นักเรียนและครูเข้าไปในโรงเรียนเลยเพราะอาจเกิดอันตราย และให้ทุก สพท.ในจังหวัดเดียวกัน จัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือนักเรียนฯ” และตั้งกลุ่มไลน์ “ศูนย์น้ำท่วมจังหวัด“
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า เมื่อน้ำลดแล้ว สพท. จะต้องสำรวจความเสียหายของอาคารสถานที่ อุปกรณ์การเรียน ที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเสนอของบปรับปรุงซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานในการเรียนได้ปกติ และให้สำรวจบ้านนักเรียน ครู ที่เสียหาย เพื่อพิจารณาช่วยเหลือ รวมถึงประสานหน่วยงานในพื้นที่ หรือศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซมความเสียหา ย และรายงานเหตุให้สพฐ.ทราบทุกระยะ พร้อมทั้งติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการลดภาระครู ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.ศธ. นั้น ในวันนี้ ตนได้มอบหมายให้ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. และทีมงานไปกำหนด เพื่อออกเป็นประกาศ สพฐ. เรื่องรายการที่ครูไม่ต้องรายงาน จาก 114 รายการ มีจำนวน 52 รายการ ที่ครูโรงเรียนเล็ก โรงเรียนกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ไม่ต้องรายงานอีกแล้ว เพื่อเป็นการลดภาระครูได้อย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ที่สพฐวิเคราะห์มาแล้ว โดย สพฐ.จะออกประกาศเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติภายในสัปดาห์นี้
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ส่วนวัดชี้วัดและการประเมินการรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA ) ซึ่งโรงเรียนต้องดำเนินการ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับลดตัวชี้วัดที่กำหนดไว้จาก 28 ตัวชี้วัด ให้เหลือ 17 ตัวชี้วัดแล้ว แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนว่ายังเป็นภาระครูอีกมาก วันนี้ ตนจึงสั่งการให้มีการประเมิน ITA เฉพาะโรงเรียนคุณภาพ และ โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าโรง จาก 3 หมื่นโรง และในอนาคต สพฐ.จะประสานกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อขอลดตัวชี้วัดลงอีกเพื่อลดภาระครู เนื่องจากการประเมิน ITA ป.ป.ช.เป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ สพฐ.กำหนดขึ้นมาเอง เพื่อวัดความโปร่งใส เรื่องการมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณ การทำงานในโรงเรียน
“การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาในส่วนของโครงการต่าง ๆ ผมได้มอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่ามีโครงการใดบ้างที่จะปรับลดลงได้ เราจะทยอยลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเบื้องต้นสามารถปรับลดลงได้แล้ว คือ โครงการในภาพรวมของ สพฐ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นโครงการตามแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 114 โครงการ สามารถลดภาระตามแนวทาง 6ล ได้ 80 โครงการ และยกเลิกการรายงานได้ 52 โครงการ โดยครูไม่ต้องรายงานให้เขตพื้นที่ฯและไม่ต้องรายงาน สพฐ.อีกแล้ว เพื่อลดภาระครูและให้ครูทุ่มเทเวลาให้กับนักเรียนได้มากขึ้น เป็นการคืนครูสู่ห้องเรียน” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี