รอง อสส.เป็นประธานจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism - NRM) ในการระบุตัวตนจากการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์เกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ (Scammer Case) เปิดเวทีผนึกกำลังร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งในการต่อสู้กับอาชญากรรมการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 ที่ห้องแมกโนเลีย 2 - 3 โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายอธึก คล้ายสังข์ รองอัยการสูงสุด (รอง อสส.) เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism - NRM) ในการระบุตัวตนจากการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์เกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ (Scammer Case) จัดโดยสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด
นางจตุพร แสงหิรัญ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ กล่าวว่า โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากการตระหนักถึงภัยคุกคามอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อน โดยเฉพาะปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ที่ได้กลายสภาพเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งมีปรากฏการณ์ที่น่ากังวล คือ กลุ่มคนทุกเพศทุกวัยตกเป็นเป้าหมายหลักในการถูกล่อลวงและถูกบังคับให้ร่วมเป็นผู้กระทำความผิดในการหลวงลวงผู้อื่น สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ชัดเจนว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้จัดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น โดยมีพนักงานอัยการและผู้แทนหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วมกิจกรรมรวม 70 คน
สำหรับแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) หรือ NRM เป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยก ประสานงาน คุ้มครอง และช่วยเหลือบุคคลที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ทุกหน่วยงานมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในการคัดกรองและคัดแยกผู้เสียหายอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่การดำเนินคดีที่ได้รับความร่วมมือจากผู้เสียหาย ซึ่งจะทำให้พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องเข้าใจหลักการกลไกส่งต่อระดับชาติ รวมทั้งพนักงานอัยการสามารถให้คำแนะนำ ปรึกษา เจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงานในการระบุตัวตนผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังเป็นเวทีในการหามาตรการร่วมกันในการบังคับใช้กลไก NRM ต่อกรณีคดีค้ามนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีความซับซ้อน โดยรูปแบบการสัมมนาตลอด 2 วันนี้ ประกอบด้วยการบรรยาย การอภิปราย และการฝึกปฏิบัติกลุ่มย่อยจากกรณีศึกษาจริง
อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ ได้กล่าวย้ำอีกว่า การผนึกกำลังจากทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ จะนำไปสู่แนวทางปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้กับอาชญากรรมการค้ามนุษย์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี