‘ปลาหมอคางดำ’ยังขาดข้อมูลพื้นฐานสำคัญ นักวิชาการชี้ชดเชยต้องมีข้อมูลจากกรมสรรพากร
ในเวทีเสวนาวิชาการราชบัณฑิตสัญจร หัวข้อ “ทางออกที่ยั่งยืนในการจัดการปลาหมอคางดำ” นักวิชาการและผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานรัฐต่างเห็นพ้องว่า การขาด “ข้อมูลพื้นฐาน (Baseline Data)” ที่ชัดเจน คือ อุปสรรคสำคัญที่สุด ในการจัดการปัญหานี้ทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ขณะที่ไทยยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนและหลังการแพร่ระบาดเลย
แม้จะถูกมองเป็น “สายพันธุ์ต่างถิ่น” (Alien Species) แต่ทั้งภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าย้ำว่า ปลาหมอคางดำกินได้ มีคุณค่าทางอาหาร และสร้างมูลค่าได้หากบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งแนวคิดนี้เคยใช้ได้ผลในกรณี “หอยเชอรี่” ที่เคยเป็นศัตรูพืชร้ายแรงในอดีต ที่วันนี้ถูกเลี้ยงเชิงพาณิชย์เพื่อบริโภคและส่งออก โดยมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
ส่วนการเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหาย เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่นักวิชาการให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจ ว่า จำเป็นต้องนำหลักการเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้คำนวณอัตราการชดเชย และจำเป็นต้องใช้ข้อมูลกลางที่ได้การรับรองว่าถูกต้องเป็นหลักฐานอ้างอิง นั่นคือ ข้อมูลรายได้ย้อนหลังจากกรมสรรพากร เพื่อให้การพิจารณาเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ในการเสวนาครั้งนี้ นายอุกกฤต สตภูมินทร์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาการจัดการและแก้ปัญหาปลาหมอคางดำยังเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น แต่ยังขาดข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ (Quantitative Data and Qualitative Data) ซึ่งการแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องมีข้อมูลอ้างอิงหลักทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดของปลาในการช่วยวัดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างแม่นยำ ดังนี้
• องค์ประกอบของสัตว์น้ำในพื้นที่ก่อนการระบาด
• ข้อมูลประชากรและขนาดของปลาหมอคางดำในช่วงเวลาต่างๆ
• ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ
• การแข่งขันหรือแย่งอาหารกับสายพันธุ์พื้นถิ่น
“ข้อมูลในปัจจุบันอย่างเดียวไม่สามารถวัดได้ชัดเจนและตอบคำถามเชิงนิเวศไม่ได้ จำเป็นต้องมีข้อมูล Baseline ในการเปรียบเทียบและต้องตรวจวัดต่อเนื่อง เพื่อเรียนรู้และศึกษาการขยายอิทธิพลของปลาหมอคางดำว่ามีผลกระทบต่อปัจจัยหลักอย่างไร” นายอุกกฤต กล่าว
ด้าน ดร.วรัณทัต ดุลยพฤกษ์ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญการประเมินผลกระทบทางน้ำ กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูล Baseline ที่เป็นระบบเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ หรือแม้แต่ข้อมูลจากประเทศต้นทางของปลาอย่าง กานา และ โกตดิวัวร์ แต่มีนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหา คือการจับปลาออกจากแหล่งน้ำ ใช้เป็นอาหารและแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม
ที่น่าสนใจมาก คือ การประเมินการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากปลาหมอคางดำ ต้องคำนวณบนหลักการทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาใช้ โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญเป็นหลักฐานอ้างอิง เช่น รายได้ย้อนหลังจากการเสียภาษีของเกษตรกร ซึ่งจำเป็นต้องมาจากกรมสรรพากร รวมถึงต้องตรวจสอบความเสียหายจากปัจจัยรอบด้านที่ตรวจสอบได้ เช่น การลงทุน มูลค่าความเสียหาย กำไรและโอกาสในการสร้างรายได้
นอกจากนี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ เห็นพ้องกันว่าทางออกของปลาหมอคางดำในระยะยาวต้องอาศัยเทคโนโลยีเชิงนิเวศ เช่น eDNA (Environmental DNA) เพื่อตรวจสอบการแพร่กระจายของปลาอย่างแม่นจะช่วยให้การเฝ้าระวังและการจับปลามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และอาจจะขยายไปถึงการศึกษาใช้สารชีวภาพ (biopesticide) ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพื่อควบคุมประชากรปลาให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ขณะที่การจับให้มากที่สุดและนำไปแปรรูปเป็นอาหาร หรือ น้ำหมักชีวภาพ (ปุ๋ย) เป็นทางรอดที่เหมาะสมในระยะสั้น
“สำหรับปลาหมอคางดำ ธรรมชาติจะปรับตัวเพื่อรักษาสมดุล แต่ถ้าเราสู้ไม่ได้ก็แต่งงานกับมัน” ดร.วรัณทัต กล่าว
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กรมประมงรายงานผลการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ในพื้นที่แหล่งน้ำ ธรรมชาติรวม 21 จังหวัด จำนวน 204 แหล่งน้ำ พบการแพร่ระบาดของปลาใน 19 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันลดเหลือ 17 จังหวัด โดยไม่พบความชุกชุมมากในจังหวัดใด (100 ตัว/พื้นที่ 100 ตารางเมตร) ชุกชุมปานกลาง 11 จังหวัด (10-100 ตัว/พื้นที่ 100 ตารางเมตร) ชุกชุมน้อย 6 จังหวัด (10 ตัว/พื้นที 100 ตารางเมตร) และสำรวจไม่พบ 2 จังหวัด (พัทลุงและปราจีนบุรี) โดยจับปลาได้ทั้งสิ้น ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 จำนวน 6.455 ล้านกิโลกรัม และยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมจับปลาและปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง
#สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี