ในช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบนี้ หลายพื้นที่ได้งัดเอาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นออกมาสร้างสีสันให้ปรากฏต่อสายตานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ประเพณีการเล่นอย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับเทศกาลสงกรานต์ก็คือ หัวล้านชนกัน ซึ่งเป็นการเล่นเฉพาะบุรุษมีอายุ มีมาแต่โบราณโดยปรากฏในหนังสือวรรณคดีหลายเล่ม อาทิ สมุทรโฆษคำฉันท์ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความสนุกสนาน เสริมสร้างบรรยากาศไม่ให้เงียบเหงาตามแบบคนไทยที่ต้องเอา “สนุก” ไว้ก่อน
ทั้งนี้คนโบราณกลับนึกสนุกจับเอาคนหัวล้านมาเล่นกีฬาแข่งขันกัน จนตกทอดมาถึงรุ่นปัจจุบันเรียกว่า "หัวล้านชนกัน" ซึ่งเป็นการละเล่นของผู้ชายเมื่อถึงวัยที่หัวไร้เส้นผม หรือแม้กระทั่งเด็กก็สามารถเล่นได้ นิยมเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์และงานต่างๆ ตามโอกาส ซึ่งสามารถสร้างบรรยากาศภายในงานให้ดูสนุกสนานมากขึ้น
โดยก่อนเล่นต้องกำหนดขอบเขตของพื้นที่โดยรอบเสียก่อน จากนั้นก็ให้ผู้เล่นทั้งสองลงมายังพื้นที่ดังกล่าว แล้วใช้กำลังดันให้อีกฝ่ายหลุดออกจากพื้นที่ที่กำหนดไว้ ใครสามารถดันให้อีกฝ่ายกระเด็นออกจากพื้นที่ได้ก่อนก็จะเป็นผู้ชนะ ซึ่งขณะเล่นห้ามใช้อวัยวะส่วนอื่นดันฝ่ายตรงข้าม มือและขาต้องติดกับพื้นตลอดเวลา ใช้ได้เพียงหัวของตนเองเท่านั้น
เห็นได้ว่าการละเล่นจะกระทำกันอย่างเปิดเผย ฝ่ายชนะก็ดีใจไป ส่วนผู้แพ้ก็ต้องยอมรับ ไม่มีการเป็น “อีแอบ” หรือ “ลอบกัด” เหมือนหลายเหตุการณ์ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ จนกลายเป็นเรื่องชินตา
อย่างไรก็ตามสิ่งที่คนหัวล้านเกลียดก็คือการดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งจะหัวล้านหรือผมดก ก็ควรเป็นมิตรกันเสียดีกว่า เพราะถ้าวันหนึ่งผมของเราหลุดร่วง จนไม่เหลือสักเส้นขึ้นมา จะกลายเป็น “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”
"ผู้ชาย" มักมีเรื่องให้กังวลใจอยู่ไม่กี่เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงในอนาคต การเงิน หรือคู่ครอง แต่สิ่งหนึ่งที่บั่นทอนจิตใจของผู้ชายอันดับต้นๆ เลยก็คือ "หัวล้าน" เพราะไม่ว่าคนรวย คนจน ศิลปิน ดารา ยันนักการเมือง ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะหัวล้านด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งถ้าหัวมันจะล้านต่อให้หนียังไง มันก็หนีไม่พ้น บางคนก็ส่อแววหัวล้านเสียตั้งแต่ยังหนุ่ม เพราะติดมาจากกรรมพันธุ์ หรือบางคนแก่ตัวไปเส้นผมที่เคยดกดำ ก็เริ่มที่จะกลายเป็นสีขาว และหลุดร่วง จนกระทั่งกลายเป็นหัวล้านไปตามธรรมชาติ
แน่นอนเป็นใครก็ไม่อยากให้หัวของตัวเอง "ล้าน" เพราะเหตุผลหลักๆ ก็คือกลัวคนอื่นล้อ และอาจจะทำให้สูญเสียความมั่นใจไปเลยก็เป็นได้ บางคนถึงขั้นต้องไปรักษา จนหมดเงินไปเสียตั้งมากมาย แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว หรือรักษาแล้วไม่ดีขึ้นก็ต้องทำใจและอยู่ร่วมกับมันให้ได้
ทั้งนี้ลักษณะหัวล้านของมนุษย์เรานั้นแบ่งออกเป็น 7 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ทุ่งหมาหลง ,ดงช้างข้าม ,ง่ามเทโพ ,ชะโดตีแปลง ,แร้งกระพือปีก ,ฉีกขวานฟาด และ ราชคลึงเครา แต่ละชื่อดูแปลกๆ ทั้งนั้น แถมยังมีสัมผัสคล้องจองกันเสียอีกด้วย งั้นลองมาดูว่าแต่ละประเภทมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง
ทุ่งหมาหลง : ลักษณะก็คือ หัวล้านแบบไม่มีผม จะมีก็แค่ตรงขอบๆ ทั้งสองข้างเท่านั้น ซึ่งคนโบราณเปรียบเสมือนทุ่งที่ไร้ต้นไม้ ใบหญ้า หากนำหมาไปปล่อย ก็ถึงขั้นหลงทางเพราะไม่มีอะไรให้สังเกตพอให้รู้ถึงทิศทาง มีแต่ความว่างเปล่า
ทุ่งหมาหลง
จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ
ดงช้างข้าม : เปรียบได้ดังป่าที่ช้างมักเดินผ่านกันเป็นโขลง จนทางที่ช้างเดินผ่านนั้นเรียบเป็นหน้ากอง ซึ่งลักษณะของเส้นผมนั้นก็จะล้านตั้งแต่หน้าผากไปยันท้ายทอย ซึ่งจะมีความกว้างมากหรือน้อยก็แล้วแต่คน แต่จะยังพอเห็นเส้นผมตามด้านข้างศีรษะอยู่
ดงช้างข้าม
ง่ามเทโพ : ลักษณะนี้จะล้านเข้าไปทั้งสองข้างขมับ มีเส้นผมอยู่บริเวณกลางไปจนถึงด้านหลัง ง่ามเทโพนี้ถือว่าเป็นหัวล้านที่ยังพอมีเส้นผมเยอะที่สุดในบรรดา 7 ประเภท
ง่ามเทโพ
ชะโดตีแปลง : หัวล้านชนิดจะมีลักษณะเป็นวงกลมอยู่กลางศีรษะ ด้านหน้า ด้านข้าง รวมถึงด้านหลังจะยังมีผมอยู่ ซึ่งหากมองมุมสูงจะคล้ายไข่ดาว และที่ใช้ชื่อว่า "ชะโดตีแปลง" ก็เพราะเหมือนกับปลาชะโดที่ดิ้นตีแปลงจนน้ำกระเซ็นออกไปรอบๆ
ชะโดตีแปลง
แร้งกระพือปีก : เป็นหัวล้านที่จะเถิกเข้าไปสองข้างขมับ คล้ายดงช้างข้าม เพียงแต่จะยังเหลือกระจุกผมด้านหลังอยู่ ส่วนผมด้านข้างนั้นจะพองออกคล้ายนกที่กำลังกระพือปีกบิน
แร้งกระพือปีก
ฉีกขวานฟาด : หัวล้านที่กินวงกว้างแต่ยังดูไม่เกลี้ยง เพราะยังมีผมบางๆ ขึ้นอยู่ แต่ในอนาคตอาจจะล้านเหมือนอย่าง ดงช้างข้ามได้ ตัวอย่างที่พอจะเห็นชัดๆ ก็จะมี ปึ้ง นกตะกรุม หรือ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ของเรานี่แหละ
ฉีกขวานฟาด
สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
ราชคลึงเครา : ประเภทสุดท้ายนี้ก็เหมือนกับหัวล้านในแบบต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพียงแต่ว่า จะเพิ่มหนวด เคราที่ขึ้นตั้งแต่จอนลงมายันคาง ทำให้บุคลิกดูดุดันมากยิ่งขึ้น
ราชคลึงเครา
จักเห็นได้ว่าหัวล้านก็ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น มีคำพังเพยโบราณว่า “หัวล้านได้หวี หัวล้านนอกครู หัวล้านพลอยตาย และ คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง” ล้วนเป็นคติเตือนใจและเพื่อให้จำง่ายก็เอาคนหัวล้านเข้ามาเป็นตัวละครประกอบ เช่น ขุนช้าง (ในขุนช้างขุนแผน) นนทุก (ในรามเกียรติ์) นายเถิก (ตลกเอกจากคณะหุ่นกระบอกของยายชูศรี สกุลแก้ว) เจ้าเท่ง (หนังตะลุง) และตัวละครอื่นๆ ล้วนเป็นคนหัวล้าน ทั้งสิ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี