แต่ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2509 เรื่อยมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังคงมอบหมายให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง อำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน สร้างระบบถ่วงดุล โดยออกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยให้มีอำนาจกำกับดูแล ควบคุมการสอบสวนและส่งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเข้าร่วมสอบสวน
โดยให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ แล้วแต่กรณี เข้าไปกำกับดูแล และควบคุมการสอบสวนหรือส่งปลัดอำเภอซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเข้าไปร่วมสอบสวน เพื่อเป็นการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ราษฎร ในกรณีที่มีการร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม หรือกรณีเกิดคดีอาญาเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า และทรัพยากรธรรมชาติ คดีวิสามัญฆาตกรรมหรือคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชน กรณีมีการร้องเรียนว่าการสอบสวน ไม่เป็นธรรม หรือเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีพฤติการณ์ไม่ชอบในการสอบสวน หรือเห็นว่าอาจเกิด หรือเกิดการสอบสวนที่ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกต้องตามกฎหมายหรือสุจริตยุติธรรมล่าช้า ดังนี้
4.2 ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2509 เรื่องระเบียบการสอบสวนคดีอาญาในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2509 ลงนามโดย พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น
4.3 ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ.2523 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2523 (ฉบับที่ 3) พ.ศ2523 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2525 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2536 (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2537 และ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2538 ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2523 ลงนามโดยนายประเทือง กีรติบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น
ซึ่งข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยข้างต้น นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้ข้อบังคับดังกล่าวดูแลอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนทั้งกรณีไม่มีการร้องเรียนและกรณีมีการร้องเรียนจากประชาชนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เข้าไปเร่งรัดการสอบสวน การตรวจสำนวนการสอบสวน การส่งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเข้าร่วมสอบสวน หรือการเข้าควบคุมโดยเป็นหัวหน้าพนักงาน
แม้หลังจากปี 2541 ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย มาจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี แต่ในการสอบสวนคดีอาญา พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจก็ยังคงปฏิบัติตาม ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเรื่อยมา
จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักสอบสวนฝ่ายปกครอง ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่จะเข้าไปดูแลเพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนและรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง ในคดีป้องกันปราบปรามการลักลอบ ตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ คดีวิสามัญฆาตกรรม และคดีสำคัญๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ทำให้กระทรวงมหาดไทยโดยนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดกระทรวงมหาดไทย มีปัญหาในการเข้าไปควบคุม ตรวจสอบการสอบสวนคดีตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งคดีสำคัญๆ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส และเป็นการอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนในเบื้องต้นเช่นที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ทั้งๆ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ยังรับรองความเป็นพนักงานสอบสวนของปลัดอำเภอและพนักงานปกครองชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยอยู่เช่นเดิม(ตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุดที่ อส 0007(พก)/ว 163 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 แนบมาพร้อมนี้) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังคงเป็นผู้รับผิดชอบ และมีอำนาจตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพ.ศ.2477
และทั้งๆ ที่ มาตรา 9 พระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจสังกัดกระทรวงมหาดไทยไปจัดตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2541 (กรมตำรวจเดิมเป็นกรมๆหนึ่งสังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทย) กำหนดไว้ว่า ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของกรมตำรวจ หรือของข้าราชการตำรวจ ไปเป็นของนายกรัฐมนตรี ก็ตาม
ซึ่งเรื่องนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยหารือแนวทางปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2541 ไปยังสำนักงานกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะที่ 5) ได้ตอบข้อหารือว่า กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของกรมตำรวจ หรือในฐานะผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ของกรมตำรวจหรือของข้าราชการตำรวจ ได้แก่ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามกฎหมายกลุ่มนี้จะไม่โอนไปเป็นของนายกรัฐมนตรี
5.คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2549 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 โดยมี พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ได้เสนอรายงานการศึกษาวิจัย ซึ่งทำการวิจัยโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวยและคณะ เรื่องความเป็นไปได้ในการโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้หน่วยงานอื่นของรัฐรับผิดชอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพและความคุ้มค่าต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทยเห็นว่า ปัญหาการสอบสวนที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ การสอบสวนดำเนินคดีที่ล่าช้า (ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม) พนักงานสอบสวนต้องรับผิดชอบคดีในการสอบสวน ที่มีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่มีจำนวนพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่รับผิดชอบไม่มากทำให้ขาดคุณภาพ ในการบังคับใช้กฎหมาย การอำนวยความเป็นธรรมและการบริการให้กับประชาชน บกพร่อง และนอกจากนั้นปรากฏว่า พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบการสอบสวนบางคน ยังถูกผู้บังคับบัญชาที่ไม่มีความเป็นธรรมหรือประพฤติมิชอบบางคน ซึ่งไม่ได้ทำการสอบสวนคดีนั้นๆ ครอบงำ สั่งการให้บิดเบือน เปลี่ยนแปลงผลการสอบสวนให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาที่กระทำผิด ให้รอดพ้นจากการกระทำผิดในคดีนั้นโดยมิชอบ ซึ่งถ้าหากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณธรรม ไม่มีการกำกับ ควบคุมดูแล ตรวจสอบให้เป็นตามหลักคุณธรรม และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม บ้านเมืองและสังคมจะมีปัญหา เพิ่มขึ้น เสียโอกาสในการพัฒนา ปัญหาของบ้านเมืองไม่ได้รับการแก้ไข และเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการทุจริต ประพฤติมิชอบ ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชน
6.เพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ กรณีเมื่อการสอบสวนคดีเสร็จ ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว และพนักงานอัยการพิจารณามีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 145 กำหนดให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งไม่ฟ้อง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาเห็นชอบและให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการได้ ทั้งนี้รวมทั้งคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกา หรือคำสั่งถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาของพนักงานอัยการได้ด้วย
แต่ปรากฏว่าได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 115/2557 สั่งแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตัดทอนอำนาจการอำนวยความเป็นธรรมให้ราษฎรของผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
แล้วให้ผู้บัญชาการตำรวจภาคเป็นผู้พิจารณาแทน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นการไม่ถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ กับพนักงานอัยการ และทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นคนกลางระหว่างพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานอัยการ ไม่อาจเข้าไปดูแลให้ความเป็นธรรม บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน
ทั้งๆ ที่อยู่ในฐานะผู้อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนและทราบข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่มากกว่าตำรวจภูธรภาคซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในจังหวัดของตนเองได้
จึงควรยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 115/2557 ที่แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตัดทอนอำนาจการอำนวยความเป็นธรรมให้ราษฎรของผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 และตามมาตรา 21/1 กรณีชี้ขาดว่าใครจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แล้วให้ผู้บัญชาการตำรวจภาคเป็นผู้พิจารณาแทน เพราะทำให้ไม่เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ เข้าลักษณะ “ตำรวจสอบสวน อัยการเห็นว่าควรสั่งไม่ฟ้อง แต่กลับนำไปให้ตำรวจ พิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยให้ตำรวจมีอำนาจทำความเห็นแย้งอีก” และทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นคนกลางและทราบข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่มากกว่าตำรวจภูธรภาค ไม่อาจดูแลให้ความเป็นธรรม บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน ในฐานะผู้อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนได้
นอกจากนั้นการพิจารณาสั่งการในสำนวนการสอบสวนที่จังหวัดแต่ละจังหวัด จะรวดเร็วกว่า ประหยัดกว่าและน่าจะเป็นธรรมกว่า และประชาชนเข้าถึงร้องเรียนได้ง่ายและประหยัดกว่าการนำสำนวนไปมอบให้ผู้บัญชาการตำรวจภาค พิจารณาที่สำนักงานตำรวจภาค (ซึ่งข้อเสนอนี้ให้มีการยุบสำนักงานตำรวจภูธรภาคต่างๆ ด้วย) ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในจังหวัดของตนเอง
ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และสร้างกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ รวมตลอดทั้งเป็นการสร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไปเป็นธรรมในสังคม ตามมาตรา 258 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ง. (1) (2) (3) อีกทางหนึ่งด้วย
พันโทกมล ประจวบเหมาะ
นายกสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี