ศอ.บต.ย้ำความสำคัญ"เมืองต้นแบบอุตสาหกรรม" ชี้ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตบ้านเกิดตัวเอง
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 นายชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ได้เปิดเผยถึงกระแสต่อต้านเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม อ.จะนะ จ.สงขลา จากประชาชนบางส่วน ว่า อยากให้กระบวนการของภาคประชาชน เป็นผู้กำหนดการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง โดยจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรก มีการประสานงานระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยประชาชนจะต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจครบทุกมิติ รอบด้าน และครอบคลุม
ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.อธิบายว่า เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมในภาคใต้มีด้วยกันทั้งสิ้น 4 ที่ โดยจุดที่ 1 อยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา จุดที่ 2 อยู่ที่สุไหงโกลก จ.นราธิวาส จุดที่ 3 อยู่ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และจุดที่ 4 อยู่ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแต่ละแบบจะมีจุดเด่นและศักยภาพที่แตกต่างกัน โดย อ.เบตง จะมีจุดเด่นศักยภาพในเรื่องระบบโลจิสติกส์ การค้าขายแดน อ.สุไหงโกลก เด่นในเรื่องของคุณภาพชีวิตและพลังงาน อ.หนองจิก จะเด่นในเรื่องของอุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยว ขณะที่ อ.จะนะ จ.สงขลา นั้น หากกางแผนที่ จะพบว่าเมืองต้นแบบทั้ง 3 แห่ง จะเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วน อ.จะนะ จะอยู่ในจุดบนสุด เชื่อมต่อจากจุดแหลมสุด ถือเป็นเมืองต้นแบบที่รับแรงสะท้อนจากทั้ง 3 จุด มีศักยภาพที่โดดเด่น ครบทุกด้าน
นายชนธัญ กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศอ.บต.ใด้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ศอ.บต.ได้นำผู้แทนภาคประชาสังคมรุ่นที่ 2 กว่า 40 คน ของ จ.สงขลา และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าศึกษาดูงานการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศมาเลเซีย สอดรับแนวนโยบายของรัฐบาลหลังอนุมัติขยายเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนไทยและชาวมาเลเซียที่อาศัยอยู่ในเมืองเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย เพื่อสร้างการเรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย ในโอกาสที่จะนำองค์ความรู้ดังกล่าวกลับมาสร้างความเข้าใจให้กับคนไทยทั้งในและต่างประเทศ ได้รับรู้ถึงแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบายของภาครัฐในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ คณะได้เยี่ยมชมโรงผลิตกระแสไฟฟ้าถ่านหินสะอาด "จานามันจุง" (Janamanjung) เมืองศรีมันจุง รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ที่ควบคุมโดยบริษัท TBN Janamanjung Shn.Bhn. ใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินประเภทซับบิทูมินัส และบิทูมินัส ที่นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย และรัสเซีย มีระบบการทำงานที่มีความทันสมัย ปฏิบัติตามกฎของธนาคารโลกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้าการผลิตแห่งนี้เกิดจากการถมทะเลทั้งหมดอีกด้วย พร้อมทั้งลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงผลกระทบของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกัน
โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเผยว่า ผลกระทบจากโรงไฟฟ้ามีน้อยมาก ซึ่งก่อนที่จะมีการสร้าง รัฐบาลได้กำหนดข้อตกลงและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จ รัฐก็ดำเนินการตามสัญญาเป็นอย่างดี และชาวบ้านส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะแรงงานของโรงไฟฟ้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นแรงงานในพื้นที่ อีกทั้งมีการสนับสนุนให้คนในพื้นที่เรียนให้ตรงกับความต้องการของแรงงาน จึงทำให้สามารถตอบโจทย์การสร้างอาชีพได้ดี และชาวบ้านชาวมาเลเซียยังชื่นชมรัฐบาลไทยที่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการดำเนินการ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยมีความจริงใจและพร้อมสร้างความร่วมมือกับคนในพื้นที่เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ศอ.บต.ยังได้มีการเยือนเมืองปีนัง เพื่อรับฟังการบรรยายพิเศษจากเจ้าหน้าที่จากท่าเรือปีนัง ถึงแนวทางการพัฒนาท่าเรือ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า สภาพเศรษฐกิจของเมืองปีนังเติบโตได้จากการสร้างท่าเทียบเรือ แต่ละปีมีเงินสะพัดเข้าพื้นที่มากว่าแสนล้าน และสินค้าส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นสินค้าของประเทศไทย จึงเชื่อมั่นว่าถ้ามีการพัฒนาท่าเทียบเรือจะนะจะสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าในแถบเอเชียขยายไปยังแถบยุโรปได้กว้างขึ้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลในอนาคต
ทั้งนี้ นายชนธัญ ยังได้กล่าวว่า ในอนาคต ศอ.บต.จะมีการนำผู้แทนภาคประชาชน มาร่วมดูงานในพื้นที่ต่างๆของภาคตะวันออก เช่นที่ มาบตาพุด จ.ระยอง และแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี