‘อดีตโฆษกปชป.’ชำแหละคำแถลงอัยการคดี‘บอส’ โยนบาปตำรวจ-เหวี่ยงเผือกร้อนให้ศาลยุติธรรม
5 สิงหาคม 2563 นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “คำแถลงอัยการ โยนบาปให้ตำรวจ โยนเผือกร้อนซ่อนเงื่อนให้ศาลยุติธรรม ทำองค์กรเสื่อมทรุด” มีเนื้อหาดังนี้
หลังจากได้ติดตามการแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการพิจารณาสั่งคดี “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” หรือ บอส ของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนี้ สรุปความได้ตามชื่อเรื่องบทความคือ เป็นการโยนบาปให้ตำรวจ โยนเผือกร้อนให้ศาลยุติธรรม ทำองค์กรเสื่อมทรุด มากขึ้น โดยขอแยกแต่ละประเด็นดังนี้
ประเด็นโยนบาปให้ตำรวจ ที่อัยการอ้างว่า อัยการมีหน้าที่พิจารณาดีตามสำนวนเท่านั้น เท่ากับโยนความบกพร่องทุกอย่างให้ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งที่ในความเป็นจริงอัยการมีหน้าที่กลั่นกรองสำนวนหากพบว่าไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ก็สามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมได้ เหมือนกับที่สั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนพยานใหม่ในปี 62 จนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องคดี
ที่สำคัญเหตุผลที่อัยการนำมาใช้ในการดำเนินคดีใหม่ทั้งเรื่องโคเคน และความเร็วรถนั้น ความจริงปรากฏต่อสาธารณะตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุใหม่ๆว่า พนักงานสอบสวนชุดแรกไม่ได้รวมเรื่องนี้ไว้ในสำนวน จนกระทั่งพนักงานชุดดังกล่าว ถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.และ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรงไปก่อนหน้านี้แสดงว่าข้อมูลทั้ง 2 ชิ้นนี้ ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใดแต่เป็นพยานหลักฐานที่ไม่ได้ดำเนินการสอบสวนให้ครบถ้วนซึ่งถ้าหากบกพร่อง ก็ต้องถือว่าบกพร่องทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการที่ไม่มีการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมให้ครบถ้วน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงยิ่งประจานให้เห็นว่าการทำคดีนายบอส อยู่วิทยา มีปัญหาทั้งขั้นตอนการทำสำนวนของตำรวจและการสั่งคดีของอัยการ
ประเด็นโยนเผือกร้อนซ่อนเงื่อนให้ศาลยุติธรรม ที่อัยการแถลงให้รื้อคดีขึ้นสอบสวนในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เพราะปรากฏพยานหลักฐานสำคัญ คือ ความเห็นของ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า ความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147
มีคำถามที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าประเด็นการรื้อคดีขึ้นสอบสวนให้ตามป.วิอาญามาตรา 147 ตามที่อัยการแถลงเมื่อวานนี้ สามารถทำได้หรือไม่แค่ไหนเพียงไร และความเห็นเรื่องความเร็วของดร. สธน เป็นพยานหลักฐานเก่าหรือพยานหลักฐานใหม่กันแน่ หรือเป็นการแถลงเพื่อลดกระแสสังคมเอาตัวรอดโดยไม่สนว่ารูปคดีจะออกมาอย่างไร เพราะท้ายที่สุดคนที่พิจารณาเรื่องพยานหลักฐานที่นำมารื้อคดีขึ้นสอบสวนใหม่คือศาล การทำเช่นนี้ของอัยการ ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นทนายของแผ่นดิน จึงไม่ต่างอะไรกับการปัดเรื่องให้พ้นตัว โยนบาปให้ตำรวจและโยนเผือกร้อนซ่อนเงื่อนให้ศาลยุติธรรมต้องเป็นผู้วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย ที่ผมได้ทิ้งปมให้เห็นแล้วในข้างต้น
สำหรับผมมองเรื่องนี้เป็นสองประเด็น
1. เรื่องความเร็วรถของดร.สธน ที่มีหลักการคำนวณจากภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดวิธีเดียวกันกับพยานที่ปรากฎในสำนวนถือเป็นเรื่องที่เคยสอบสวนและมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว จะนำประเด็นนี้เรื่องนี้มาสอบสวนใหม่ไม่ได้อีก แม้จะเป็นความเห็นใหม่ของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะมีกี่ปากกี่คนก็ตามเพราะถือเป็นความเห็นในเรื่องเดิม ไม่ถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ ตามป.วิอาญามาตรา 147 ที่บัญญัติ”ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"
2. คำแถลงของอัยการที่ระบุว่าความเห็นเรื่องความเร็วรถของดร. สธน ไม่ปรากฎอยู่ในสำนวน แต่ข้อเท็จจริงจากการเปิดเผยของ พันตำรวจเอกมานะ เผาะช่วย เลขาสมาคมพนักงานสอบสวน ระบุว่าความเห็นของดร.สธนมีอยู่ในบัญชีแนบท้ายสำนวน ถ้าเป็นเข่นนี้จริงยิ่งจะเป็นการชี้ชัดว่า ความเห็นของดร.สธนเป็นพยานหลักฐานเก่าที่เคยสอบสวนมาแล้ว จะปิดประตูตายไม่มีทางที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานใหม่ได้ และยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการทั้งขั้นตอนสอบสวนและการสั่งคดีมีปัญหา ที่ต้องหาความจริงให้ได้ว่า ถ้าความเห็นนี้มีอยู่ในสำนวนตั้งแต่ต้น ตกหล่นระหว่างทางที่ไหน ทำไมอัยการไม่เห็น มีใครดึงออกจากสำนวนหรือไม่
“ผมคิดว่าสังคมต้องระวังเรื่องนี้ให้ดี การรื้อคดีขึ้นสอบสวนใหม่นั้น ถ้าจะคิดแบบมักง่ายเอาตัวรอดนั้นทำง่าย แต่บทสรุปสุดท้ายจะกลายเป็นการยื่นดาบให้กับผู้ต้องหาในการที่จะยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายว่า พยานหลักฐานที่นำมาสอบสวนเป็นพยานหลักฐานเก่าชัดต่อกฎหมาย จะทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยชนะคดีโดยไม่จำเป็นต้องต่อสู้ในเนื้อคดี ผมจึงเห็นว่าคณะทำงานของท่านอาจารย์วิชา มหาคุณ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นความหวังเดียว ที่จะนำไปสู่การรื้อคดีใหม่ได้ นั่นคือต้องมีผลสรุปที่ ชี้ให้เห็นได้ว่า ทั้งการทำสำนวนและการสั่งคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงพยานหลักฐานชุดที่สองที่รองอัยการสูงสุดนำมาเป็นเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องเป็นพยานหลักฐานเท็จ จึงจะถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่สามารถรื้อคดีขึ้นมาสอบสวนใหม่ ส่งฟ้องศาลเอาผิดกับจำเลยได้ "
สิ่งที่ผมเป็นห่วงในขณะนี้คือนอกจากทั้งองค์กรตำรวจและอัยการจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว คำแถลงล่าสุดของอัยการยังสร้างปมขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นระหว่าง 2 องค์กรด้วย ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการเผชิญหน้ากับความจริง ยอมรับความผิดพลาดจัดการกับคนที่สร้างปัญหาให้องค์กร ยอมรับความจริงแล้วแก้ไขเถอะครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี