เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้มีโอกาสศึกษาประเด็นคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน กล่าวในงานเสวนา "เข้าใจคนรุ่นใหม่ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า มาจาก 3 เปลี่ยนแปลง 2 ไม่เปลี่ยนแปลง และ 1 ความฝัน
โดย 3 เปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 1.การกล่อมเกลาทางสังคม เด็กและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในปัจจุบันเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีความเป็นสมัยใหม่ (Young Modern Family) หรือพ่อแม่ที่เปิดใจรับฟังลูก แม้บางครั้งพ่อแม่อาจจะไม่เห็นด้วยกับลูกก็ตาม ส่งผลให้เด็กและเยาวชนรุ่นนี้กล้าพูดกล้าแสดงออก ขณะการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งหมายให้เด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center) ที่หลายคนมองว่าล้มเหลวก็เป็นอีกปัจจัยเช่นกัน นอกจากนี้ ในโรงเรียนยังมีครูรุ่นใหม่ที่คิดแบบเสรีนิยม ไม่เหมือนครูรุ่นเก่าที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม
2.โลกที่หมุนเร็วและโหดร้าย (Disruptive World) ซึ่งร้อยละ 60 ของเด็กและเยาวชนที่ตนเคยสัมภาษณ์ เติบโตมาในครอบครัวที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ หมายถึงครอบครัวที่มีพ่อแม่วัย 30 กว่าปีไปจนถึง 50 ปี พ่อแม่รุ่นนี้อาจไม่สามารถปรับตัวกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ลูกจึงต้องแบกรับ ขอให้ลองคิดดูว่าเด็กที่เติบโตมาโดยเห็นพ่อแม่ทำงานหนักแต่ไม่สามารถก้าวพ้นโลกที่หมุนเร็วและโหดร้ายนี้จะเป็นอย่างไร และ 3.เทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต่อเนื่องกับ 2 ข้อแรก เด็กรุ่นนี้ใช้เทคโนโลยีด้านบันเทิง-สันทนาการอยู่แล้ว และเมื่อมีปัญหาพวกเขาก็ใช้เป็นที่พูดคุยกับเพื่อนๆ จนนำไปสู่การเรียกร้องในที่สุด
ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ส่วน 2 ไม่เปลี่ยนแปลงคือ 1.สถานศึกษา จริงอยู่ที่เด็กรุ่นก่อนๆ ก็เผชิญกับการถูกละเมิดกดทับในรูปแบบต่างๆ แต่เด็กรุ่นก่อนๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะพ่อแม่หรือครอบครัวยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมเช่นกัน แต่เด็กรุ่นปัจจุบันมีพื้นที่ที่เป็นเสรีนิยมเพิ่มขึ้นในขณะที่สถานศึกษาไม่ได้เปลี่ยนตาม แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยที่บอกว่าพยายามปรับตัว
กับ 2.ช่วงเวลา 6 ปีหลังการรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 พบว่า ในช่วงแรกๆ พ่อแม่หรือแม้แต่ตัวเด็กเองรู้สึกมีความหวังกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เมื่อ 6 ปีผ่านไป กลับรู้สึกว่านอกจากชีวิตจะไม่ดีขึ้นแล้ว พ่อแม่หลายครอบครัวยังได้รับผลกระทบด้วย และยังมองไม่เห็นการปฏิรูปประเทศตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้
สุดท้ายคือ 1 ความฝัน คนรุ่นใหม่มองว่าคนรุ่นตนเองคือผู้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากวิถีชีวิตของพวกเขาแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง จึงเชื่อว่าพวกเขาสามารถปกป้องอนาคตของพวกเขาเองได้ คำถามคือผู้ใหญ่รู้แบบนี้แล้วจะทำอย่างไร เพราะอะไรที่เราเคยเชื่อว่าทำได้ หรือจะทำให้เขาเป็นอนาคตของชาติแบบที่เราอยากให้เป็น เขาไม่เป็นแบบนั้น แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป
ผศ.ดร.กนกรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า ภาครัฐนนอกจากจะเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่แสดงออกแล้ว ยังต้องลงมือปฏิรูปอย่างจริงจัง ขณะที่ในส่วนของผู้ใหญ่ หากเป็นพ่อแม่คงไม่น่าห่วงเท่าไรเพราะเชื่อว่าพ่อแม่รุ่นนี้ผ่านการถกเถียงกับลูกมาแล้วหลายเรื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นนี้เถียงเก่ง คำแนะนำจึงมีเพียงให้พ่อแม่ช่วยปกป้องสิทธิในการแสดงออกของลูก แต่หากเป็นคนอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือรุ่นปู่ย่าตายาย ควรเปิดใจรับฟังเด็กบ้าง
"คนรุ่นปู่ย่า เข้าใจว่าเรื่องเล่า (Narrative) ที่ใช้อธิบายมันเป็นแนวคิดที่เกิดในยุคสงครามเย็น อเมริกาแทรกแซง ทุนนิยมผูกขาดใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ เป็นการอธิบายในยุค 1960s - 1970s มันอาจถูกในบางส่วน โลกทัศน์ของเด็กตอนนี้เขาให้ความสำคัญมันไม่ใช่การเมืองระหว่างประเทศ แต่มันคือปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ทุกวัน ถ้าคุณปู่คุณย่าที่อยู่ภายใต้คำอธิบายหนึ่ง อยากให้เปิดใจดูเทปการของเด็กที่มีอยู่ทุกวัน" ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี