โกงหลอนยันปัจจุบัน! สภาฯถกสางปม"โฮปเวลล์" พบทุจริตร่วมกัน แนะรัฐบาลรื้อตรวจสอบรักษาผลประโยชน์ชาติ ตั้ง"วิชา"หัวหน้าทีมค้นหาความจริงย้อนหลัง
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์) ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน พิจารณาเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพบว่า มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเบื้องต้นที่เป็นพิรุธบ่งชี้ให้น่าเชื่อว่ามีการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการโฮปเวลล์มาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน ทั้งภาคการเมือง ภาครัฐ และเอกชน ซึ่งอาจจะมีผลต่อความผูกพันตามสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ และการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยเฉพาะควรตรวจสอบและทบทวนจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการโฮปเวลล์ของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อ้างอิงและนำ มาประกอบคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้มีความถูกต้อง เนื่องจากพบว่าการเมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยทำการตรวจสอบแล้วปรากฎว่ามีจำนวนเงินตามใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องเพียงประมาณ 1,732 ล้านบาทเท่านั้น
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของแผ่นดินและของประชาชน คณะกรรมาธิการขอเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยควรที่จะให้หน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานต่าง ๆ และดำเนินการตามกฎหมายต่าง ๆ กับผู้กระทำความผิด หากพบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เพียงพอต่อไปโดยด่วน และควรให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีโครงการโฮปเวลล์ทั้งหมด ตรวจสอบและทบทวนการดำเนินการต่าง ๆ ของตนเองว่ามีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดประการใดบ้างและให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องหรือผิดพลาดนั้นโดยด่วนที่สุด
ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายว่า โครงการก่อสร้างโฮปเวลล์มีปัญหาว่าจะเป็นโมฆะ เช่น การยื่นซองประมูลที่มีผู้ยื่นซองเพียงรายเดียว คือ บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) ขัดต่อกฎหมายพัสดุ อีกทั้งบริษัทโฮปเวลล์เป็นนิติบุคคลต่างด้าวที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจขนส่งได้ โดยไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นต้น แม้จะมีการจดทะเบียนในประเทศไทย แต่ก็ยังมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เพราะมีจำนวนหุ้นกับจำนวนผู้ถือหุ้นมีต่างด้าวเกินกว่าครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีการทำสัญญาเมื่อปี 2539 ซึ่งทำให้โครงการนี้อาจเป็นโมฆะตั้งแต่เริ่มต้น
นพ.ระวี กล่าวว่า ต่อมาปีในปี 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ เพราะโฮปเวลล์ไม่ได้เร่งทำงานก่อสร้างซึ่งเป็นเหตุแห่งการผิดสัญญา แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มีการเปลี่ยนเหตุแห่งการยกเลิกสัญญา ให้มาเป็นการยกเลิกสัญญาตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งๆที่ควรบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่โฮปเวลล์กระทำผิดสัญญา การบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่โฮปเวลล์ผิดสัญญานั้นจะทำให้โฮปเวลล์รับผิดชอบต่อภาครัฐฝ่ายเดียว เรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐไม่ได้ และเรียกร้องงบประมาณที่จ่ายไปแล้วไม่ได้ ส่วนเลิกสัญญาตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะมีผลแตกต่างกัน คือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยไม่มีประเด็นการผิดสัญญาของโฮปเวลล์ ผลประโยชน์ที่รัฐได้มาต้องส่งคืนให้โฮปเวลล์ ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายต่างๆคืนจากรัฐ และผลประโยชน์ที่โฮปเวลล์ได้รับก็ต้องส่งคืนรัฐ
นพ.ระวี กล่าวอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดการต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองสูงสุด โดยโฮปเวลล์เรียกร้องค่าเสียหาย 14,700 ล้านบาท ซึ่งคดีมีการต่อสู้กันมาถึงปี 2562 ที่มีการพิพากษาโดยศาลปกครองสูงสุดให้รัฐต้องจ่ายเงินให้โฮปเวลล์ 24,000 ล้านบาท กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นตำนานอภิมหาค่าโง่ที่บัดซบที่สุดของประเทศไทย เพราะเขาผิดสัญญาแน่นอน เพียงแต่เราบอกเลิกสัญญาให้ถูกต้องเพื่อให้รัฐไม่ต้องเสียหาย ดังนั้น มีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลให้ได้ข้อเท็จจริงที่อาจเป็นการทุจริตมิชอบของผู้เกี่ยวข้องย้อนหลังทั้งหมด และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดและบริษัทโฮปเวลล์
นพ.ระวี กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุด้วยข้อมูลหลักฐานใหม่เพื่อพิจารณาตัดสินใหม่ว่าประเทศไทยไม่ควรผิดในเรื่องนี้ เร่งแก้ไข พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ และวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครอง ไม่เพียงเท่านี้ ควรต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเลขานุการ รมว.คมนาคม ของ นายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม ในเวลานั้น คณะกรรมการดำเนินโครงการโฮปเวลล์เมื่อปี 2532 เจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่รับจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยช่วงปี 2533 - 2541 คณะกรรมการบอกเลิกสัญญาคมนาคม และรมช.คมนาคมที่เปลี่ยนเหตุแห่งการบอกเลิกสัญญา รวมไปถึงผู้แทนอัยการสูงสุด และ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและปลัดกระทรวงพาณิชน์เมื่อปี 2533 มาสอบว่าการจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ ประเทศไทย ถูกกฎหมายหรือไม่ โดยขอเสนอให้ นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบย้อนหลังทั้งหมด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี