26 มกราคม 2564 จากกรณีที่นางบวน โล่ห์สุวรรณ อายุ 89 ปี พร้อมด้วยนางลัดดาวรรณ โล่ห์สุวรรณ อายุ 66 ปี ลูกสาวชาวตำบลเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาร้องขอความช่วยเหลือ หลังจากเจ้าหน้าที่ อบต.ได้มาแจ้งว่ามีหนังสือจากกรมบัญชีกลางมาทวงเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ที่จ่ายให้กับนางบวน ผู้เป็นแม่ย้อนหลังเป็นเวลา 10 ปีคืนเป็นเงิน 84,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยด้วย เพราะเป็นการจ่ายซ้ำซ้อนเนื่องจากยายบวน ได้รับเงินบำนาญพิเศษกรณีที่เป็นทายาทของ จ.ส.อ.จักราวุทธ โล่ห์สุวรรณ ลูกชายซึ่งเป็นทหารสังกัด มทบ.21 นครราชสีมา เดือนละ 5,000 บาท
ล่าสุดเพจเฟชบุ๊ก ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้โพสต์บทความของ นายชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์ ประธานชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย ในหัวข้อเรื่อง ทำไมต้องเรียกคืนเบี้ยยังชีพที่รับโดยไม่มีสิทธิคืน โดยมีเนื้อหาดังนี้
กรณีประเด็นที่สอบถามกันว่า ผู้สูงอายุรับเงินเบี้ยไปโดยไม่มีสิทธิได้รับเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการรับเงินและปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ระหว่างดำเนินการเรียกเงินคืนนั้น ทำไมต้องเรียกคืน
ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้ให้แนวทางเพิ่มเติมว่า ในการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุองค์กรปกครองส่วนถิ่นได้ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายหอกระจายข่าวให้ผู้ที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมาลงทะเบียนและยื่นคำขอพร้อมแนบหลักฐานแล้วกรอกข้อความรับรองตนเองว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ในการเป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ลงลายมือชื่อรับรองและลงทะเบียน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากพบผู้ขาดคุณสมบัติจะต้องดำเนินการจัดทำประกาศเรื่องบัญชีรายชื่อผู้ที่สิ้นสุดการรับเงินหรือบัญชีรายชื่อผู้ที่ขาดคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพแล้วให้มีคำสั่งถอดถอนรายชื่อและระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและให้ติดตามทวงถามดำเนินการตามประกาศกระทรวงการคลัง
ซึ่งประชาชนผู้ไม่มีสิทธิได้รับเงินคิดว่าหลักเกณฑ์และการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่าเกิดความประมาทเลินเล่อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุเนื่องจากในการขึ้นทะเบียน มีคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติตามคำสั่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แต่อย่าลืมว่าในแบบคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้มีสิทธิได้ลงลายมือชื่อในแบบคำขอรับรองด้วยตนเอง โดยจะอ้างว่าตนเองไม่ทราบรายละเอียดต่างๆที่กรอกลงไปในแบบคำขอเนื่องจากเจ้าหน้าที่เป็นผู้กรอกข้อมูลให้ โดยอาจจะมองเห็นว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีคำสั่งขึ้นทะเบียนให้ผู้สูงอายุเป็นผู้มีสิทธิรับเงินและจ่ายเงินให้แก่ผู้สูงอายุมาโดยตลอดโดยไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สูงอายุจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงไม่สามารถที่จะเรียกเงินคืนได้นั้น
แต่หลักความเป็นจริงในกรณียื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ประชาสัมพันธ์แจ้งประกาศเสียงตามสาย หอกระจายข่าวไปยังผู้นำหมู่บ้านให้ประชาสัมพันธ์ แก่ผู้สูงอายุในเขตรับผิดชอบ ซึ่งผู้สูงอายุที่มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุว่า ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งผู้สูงอายุได้ทราบหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว
ซึ่งอาจจะมีทั้งประเด็นของคนที่ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคนที่รับบำนาญพิเศษจากลูก ก็ว่าไปเป็นกรณีไป แต่เราจะให้เห็นภาพรวมครับ
คำสั่งรับขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อเปลี่ยนแปลงโอนสงวนสิทธิระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลจึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ดังนั้นการที่องค์กรปกครองส่วนถิ่นได้ตรวจสอบพบว่าคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้สูงอายุมีลักษณะต้องห้าม ในการเป็นผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนถิ่นเป็นผู้ที่ออกคำสั่ง จึงมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ตนออกไปแล้วทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลย้อนหลังได้ตามมาตรา 49 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และโดยที่คำสั่งทางปกครองข้างต้นเป็นคำสั่ง ซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้
การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองกรณีดังกล่าวต้องเป็นไปตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ในกรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่าผู้สูงอายุรู้ถึงลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในวันที่ยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยมีข้อความในแบบคำขอว่าข้าพเจ้าขอรับรองว่าเป็นผู้มี คุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบข้างต้น จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่ากรณีจึงเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้สูงอายุไม่อาจอ้างความเชื่อโดยสุจริตของคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองได้
และเมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีคำสั่งถอนรายชื่อผู้สูงอายุออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุพร้อมทั้งมีหนังสือทวงถามให้ผู้สูงอายุคืนเงินที่รับไปแล้วทั้งจำนวนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีจึงเป็นการเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยให้มีผลย้อนหลังผู้สูงอายุต้องรับผิดในการคืนเงินที่ได้รับไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเต็มจำนวน
เนื่องจากว่าถือว่าเป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเป็นผู้ได้รับเงินเดือนค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ อันเป็นลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของก่อนปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2552 ข้อ 6 กำหนดว่าผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(4) ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนรายได้ประจำหรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ระเบียบข้อ 14 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าสิทธิของผู้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบนี้สิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้(2) ขาดคุณสมบัติข้อ 6
ข้อ 16 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าภายใต้ข้อบังคับข้อ 8 กรณีผู้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขาดคุณสมบัติตามข้อ 14 (2) ให้องค์กรปกครองส่วนถิ่นปิดประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหรือสถานที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน วรรคสอง กำหนดว่า หากไม่มีผู้คัดค้านให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอรายชื่อผู้ขาดคุณสมบัติต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อสั่งถอนรายชื่อและระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทันที
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 มาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 51 มาตรา 52 และมาตรา 53 ไม่ว่าจะผลขั้นตอนการกำหนดให้อุทธรณ์หรือให้โต้แย้งตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมาแล้วหรือไม่ วรรคสอง บัญญัติว่าการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ต้องกระทำภายใน 90 วันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุที่จะให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้นเว้นแต่คำสั่งทางปกครองจะได้ทำขึ้นเพราะการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงหรือควรบอกให้แจ้งหรือการข่มขู่หรือการชักจูงใจโดยการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 50 บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขนาดหนึ่งตามที่กำหนดไว้ แต่ถ้าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับการเพิกถอนต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 51 และมาตรา 52
โดยมาตรา 51 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีดังต่อไปนี้ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะอ้างความเชื่อโดยสุจริตไม่ได้ (1) ผู้นั้นได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงหรือควรบอกให้แจ้งหรือข่มขู่หรือชักจูงโดยการให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์อื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (2) ผู้นั้นได้ให้ข้อความซึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ (3) ผู้นั้นได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในขณะได้รับคำสั่งทางปกครองหรือการไม่รู้นั้นเป็นไปโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง วรรคสี่ บัญญัติว่าในกรณีที่เพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลังการคืนเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไปให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม โดยถ้าเมื่อใดผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือควรได้รู้เช่นนั้นหากผู้นั้นมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะไม่สุจริตตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปและในกรณีตามวรรคสามผู้นั้นต้องรับผิดชอบในการคืนเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับไปเต็มจำนวน
การที่ผู้สูงอายุยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียนโดยระบุชื่อสกุลที่อยู่และรายละเอียดกับองค์กรปกครองส่วนถิ่นเป็นการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตามสิทธิของตนเอง และได้รับรองคุณสมบัติของตนเองแล้วจึงถือได้ว่าผู้สูงอายุได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ดังนั้นผู้สูงอายุจะต้องคืนเงินดังกล่าวให้กับทางราชการต่อไป
ขอบคุณข้อมูล ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งประเทศไทย
+อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เร่งช่วยเหลือ‘ยายบวน’วัย89 โดนเรียกคืน‘เบี้ยคนชรา’ย้อนหลัง10ปี
+อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : โผล่อีก! คราวนี้เป็น'แม่เฒ่า'ที่นางรอง โดนเรียกคืนเบี้ยคนชรา 1.2 แสนบาท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี